จากปัญหาที่ถาโถมเข้าใส่ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ตั้งแต่กระแสข่าวลือความขัดแย้งในกลุ่มผู้บริหารบริษัทในเครือ แนวโน้มผลประกอบการที่แย่ลงจากธุรกิจรถบัสไฟฟ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การถูกฟอร์ซเซล มาจนถึงกรณีช็อกตลาดล่าสุด ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารถูกกล่าวโทษกรณีทุจริตภายใน ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสถานะของบริษัทและราคาหุ้นของ EA จนถูกถอดหุ้น EA ออกจากลิสต์หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings และทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตมาที่ BB+ จาก BBB+
หนี้ของ EA ที่ครบกำหนดชำระคืนในปีนี้กว่า 1.65 หมื่นล้านบาท ทั้งหนี้เงินกู้กับสถาบันการเงิน หนี้หุ้นกู้ หนี้เงินกู้ระยะสั้นและเงินกู้เบิกเกินบัญชี ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่า EA จะมีความสามารถในการชำระคืนหรือไม่ แม้ดอีตผู้บริหารจะออกมายืนยันถึงสถานะทางการเงิน และกระแสเงินสดที่จะเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากธุรกิจที่ยังเดินหน้าต่อไปตามปกติ โดยเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้
แทบทุก บลจ.ที่มีกองทุนภายใต้การบริหารซึ่งลงทุนในหุ้นกู้และหุ้นสามัญ EA ต่างก็เร่งออกมาชี้แจงต่อผู้ถือหน่วยเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ โดยพอร์ตที่มีหุ้นกู้ของ EA ได้แยกออกจากจากสินทรัพย์รวมของกองทุนนั้นๆ (Set Aside) และไม่นำไปคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) เพื่อลดแรงกดดันลง
นายกสมาคม AIMC ยังเชื่อว่าผลกระทบจาก EA ไม่มาก แต่อาจมีผลเชิงจิตวิทยาเชิงลบบ้าง เนื่องจาก EA เป็นหนึ่งในหุ้น ESG ที่หลายฝ่ายต้องการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ภาพรวมตลาดหุ้นไทย แต่กองทุน ThaiESG ก็ไม่ได้ลงทุนในหุ้น ESG ทุกตัว และผู้จัดการกองทุนได้รับรู้ปัญหาของ EA แล้ว และ การลงทุนของกองทุน ThaiESG เน้นกระจายความเสี่ยงมากกว่าที่นักลงทุนจะลงทุนโดยตรงในหุ้นรายตัว
*AIMC เกาะติด EA จัดการหนี้
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ระบุว่า AIMC เตรียมนัดสมาชิก ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. หารือกันพร้อมหน้าในการพิจารณาโครงสร้างตลาดทุนที่หลายหน่วยงานจะต้องมาช่วยกันแก้ไขร่วมกัน จะมีกระบวนการใดที่จะช่วยลดปัญหา เพราะต้องการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ปัจจุบันมี 6 บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ถือครองหุ้นกู้ EA ส่วนหุ้น EA มีทั้งลงทุนในกองทุนแบบ Passive และ แบบ Active โดยทั้งหมด Pending การลงทุนไว้ก่อน
การลงทุนหุ้น EA ในกองทุนแบบ Passive ที่ลงทุนตามดัชนีนั้น อาจยังไม่สามารถปรับหุ้น EA ออก เพราะนโยบายการลงทุนต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ให้ผลตอบแทนเป็นไปตามดัชนี SET หรือ SET50 หรือดัชนีอื่นตามที่ระบุไว้แต่แรก ขณะที่กองทุนแบบ Active มีสัดส่วนลงทุนน้อยไม่ได้กระทบเมื่อเทียบกับภาพรวมของกองทุนทั้งระบบ
แม้ว่าราคาหุ้น EA จะร่วงลงอย่างหนัก ไม่ได้ทำให้ บลจ.กังวลมากนัก แต่กังวลและจับตาสถานะทางการเงินที่ EA ไปลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ รถเมล์ไฟฟ้า (บริษัท ไทยสมายบัส จำกัด: TSB) ที่ยังไม่ทำกำไร โดยเข้าใจว่าบริษัทกำลัง diversify จากธุรกิจหลักคือโรงไฟฟ้า แต่กลายเป็นภาระที่ EA ต้องแบกรับอยู่ ซึ่งได้สะท้อนมาที่ราคาแล้ว
ขณะที่ภาระหนี้ของ EA เชื่อว่าสภาพคล่องยังไม่ได้มีปัญหา เพราะบริษัทยังมีรายได้จากโรงไฟฟ้าที่เป็นธุรกิจหลัก แต่ก็คงต้องตืดตามว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งโรงไฟฟ้าที่มี Adder กำลังจะหมดอายุ ธุรกิจที่ยังไม่สร้างกำไรจะยังทำตามแผนได้หรือไม่
นางชวินดา กล่าวว่า สัดส่วนการลงทุนของกองทุน ThaiESG ในหุ้น EA มีไม่มาก หรือคิดเป็นเพียง 0.35% โดยผู้จัดการกองทุนได้รับรู้และระมัดระวังการลงทุนหุ้น ESG ซึ่งปัจจุบันมี 194 หุ้น แต่ไม่ได้ลงทุนทุกบริษัท ดังนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในแง่เชิงจิตวิทยายังถือว่าเป็นบวก เพราะเคสนี้ไม่เหมือนกรณี บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น (STARK)
"ย้ำว่าหุ้น ESG บลจ.ไม่ได้ลงทุนทุกตัวแต่คัดเลือกการลงทุน ถ้าจะกลัว กลัวที่ลงทุนตรงเองมากกว่า แต่การลงทุนผ่านกรองทุนจะไม่มีการลงทุนกระจุกตัว ถ้ามีความเสียหายก็จะบรรเทา ..อย่ากลัวจนเกินไป วิตกเกินไป มีการลงทุนแบบนี้ มีคนวิเคราะห์ให้ เราทำดีที่สุด"
*บลจ.กันหุ้นกู้ EA แยกส่วนรอแก้ปัญหา
ตามข้อมูลของ บลจ.พบว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.อีสท์สปริง บลจ.วรรณ อินเวสเม้นท์ ที่มีกองทุนภายใต้การบริหารลงทุนในหุ้นกู้ของ EA ได้คัดแยกหุ้นกู้ดังกล่าวออกจากทรัพย์สินอื่น (Side Pocket หรือ Set Aside) ตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.67 โดยหุ้นกู้ EA จะไม่นำมารวมคำนวณใน NAV ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นกู้ EA จะไม่กระทบต่อกองทุน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการคำนวณ NAV และผู้ที่เข้าลงทุนภายหลังไม่ต้องรับผลกระทบจากหุ้นกู้ EA
ส่วน บลจ.กสิกรไทย และ บลจ.กรุงไทย ลงทุนหุ้นสามัญของ EA ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนกองทุนแบบ Passive Fund
*SCBAM จับแยก 8 กองทุน รอให้ฝุ่นหายตลบ
นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ (SCBAM) กล่าวว่า กองทุนของ SCBAM ลงทุนในหุ้นกู้ EA มีไม่ถึง 1% ของสินทรัพย์ แต่ยังขายออกไม่ได้ เพราะภาวะตลาดยังไม่เอื้อ อยู่ท่ามกลางความกังวล แต่เพื่อความชัดเจนจึงได้แยกหุ้นกู้ EA ออกมาก่อน ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามรอดูสถานการณ์ เพราะตอนนี้ยังฝุ่นตลบ
รายชื่อกองทุนที่ตั้ง Side Pocket หุ้นกู้ EA (ข้อมูล ณ 12 ก.ค.67)
1.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สำหรับการเกษียณอายุปี 2576 (SCB2576) ลงทุน 3.33% ของ NAV
2.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สมาร์ทแพลน 3 (SCBSMART3) ชนิดจ่ายเงินปันผล ลงทุน 2.36% ของ NAV
3.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สมาร์ทแพลน 2 ได้แก่ SCBSMART2A: ชนิดสะสมมูลค่า และ SCBSMART2: ชนิดจ่ายเงินปันผล ลงทุน 1.53%
4.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ เฟล็กซิเบิ้ล (SCBFLX) ลงทุน 1.00%
5.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ พลัส ได้แก่ SCBFP: ชนิดสะสมมูลค่า และ SCBFPP: ชนิดผู้ลงทุนกลุ่ม/บุคคล ลงทุน 0.90%
6.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ มัลติ อินคัมพลัส (SCBMPLUSA) ชนิดสะสมมูลค่า ลงทุน 0.73%
7.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ อินคัมพลัส ได้แก่ SCBPLUSA: ชนิดสะสมมูลค่า และ SCBPLUS: ชนิดรับซื้อคืนอัตโนมัติ ลงทุน 0.59%
8.กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 คือ SCBLT1-2020: ชนิดปี 2020 ลงทุน 0.20%
*อีสท์สปริงฯ แยก 7 กองทุน
นายยิ่งยง เจียรวุทฒิ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บลจ.อีสท์สปริง กล่าวว่า การทำ Set Aside แยกหุ้นกู้ EA ไว้ต่างหากนั้น หาก EA ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ บลจ.จะนำเงินคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียน ณ วันที่ 15 ก.ค.67 ขณะที่ผู้ถือรายใหม่ที่ซื้อหน่วยลงทุนหลังจากนั้นจะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหุ้นกู้ EA
"ถ้าเกิดตลาดทุกอย่างกลับมาสู่สภาวะปกติ มีคนจะซื้อเราก็อาจจะขายก่อนก็ได้ แต่ถ้าตลาดไม่ได้มีคนสนใจจะซื้อเราก็ถือต่อ"
กองทุนที่ทำ Set Aside 7 กองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค.67)
1. กองทุนเปิดอีสท์สปริง ธีรสมบัติ (ES-TSB) 4.21%
2. กองทุนเปิดอีสท์สปริง General Fixed Income เพื่อการเลี้ยงชีพ (ES-FIXEDRMF) 3.65%
3. กองทุนเปิดอีสท์สปริง ธนสาร (ES-TSARN) 2.74% 4. กองทุนเปิดอีสท์สปริง ตราสารหนี้ เพื่อการออม (ES-FIXEDSSF) 2.48% 5. กองทุนเปิดอีสท์สปริง เสถียรทรัพย์ปันผล (ES-STSD) 2.10% 6. กองทุนเปิดอีสท์สปริง Multi Income (ES-MULTIINCOME) 1.50%
7. กองทุนเปิดอีสท์สปริง Government Bonds เพื่อการเลี้ยงชีพ (ES-GOVRMF) 0.36%
*KTAM ลงทุนหุ้น EA กอง Passive 4 กอง Active 1 กอง
บลจ.กรุงไทย (KTAM) แจ้งว่ากองทุนรวมของบริษัทลงทุนในหุ้น EA จำนวน 5 กองทุน โดยลงทุนแบบกลยุทธ์เชิงรับ (Passive) จำนวน 4 กองทุน ได้แก่
1.กองทุนเปิดกรุงไทย SET50 (KT-SET50) สัดส่วน 0.43%
2.กองทุนเปิดกรุงไทย SET50 เพื่อการเลี้ยงชีพ (KTSET50RMF) สัดส่วน 0.43%
3.กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว SET50 (ชนิดLTF) (KSET50LTF-L) สัดส่วน 0.43%
4.กองทุนเปิด KTAM SET Energy ETF Tracker (ENY) สัดส่วน 1.37%
กองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก (Active) จำนวน 1 กองทุน ได้แก่
5. กองทุนเปิดกรุงไทย เวลท์ แคร์ ฟันด์ (ชนิดสะสมมูลค่า) (KT-CARE-A) มีสัดส่วนลงทุน 0.13%
*KASSET ลงทุนหุ้น EA เฉพาะ Passive Fund
บลจ.กสิกรไทย (KASSET) ชี้แจงว่า กองทุนตราสารทุนลงทุนหุ้น EA เฉพาะ Passive Fund ซึ่งผลกระทบจะเป็นไปตามผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง (ณ วันที่ 12 ก.ค.67)
1.K-TNZ สัดส่วน 0.45%
2.K-SET50 สัดส่วน 0.43%
3.K-ENERGY สัดส่วน 1.52%
4.KS50RMF สัดส่วน 0.43%
5.KS50LTF สัดส่วน 0.43%
*ONEAM เตรียมคืนเงินหากได้รับชำระหุ้นกู้ EA ที่ครบกำหนด 15 ส.ค.67
บลจ.วรรณ (ONEAM) ระบุว่า กองทุนเปิด วรรณ ดีไลท์ (ONE-DELIGHT) และกองทุนเปิดวรรณตราสารหนี้ปันผล (ONE-DI) ได้มีการลงทุนในหุ้นกู้ EA248A ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 15 ส.ค.67
ชื่อกองทุน สัดส่วน(% ของ NAV) กองทุนเปิด วรรณ ดีไลท์ (ONE-DELIGHT) 7.06% กองทุนเปิดวรรณตราสารหนี้ปันผล (ONE-DI) 1.15% *BBLAM-UOBAM-ทิสโก้-KKPAM ไม่ลงทุนหุ้นกู้-หุ้น EA, KSAM ไม่มีหุ้นกู้
บลจ.บัวหลวง (BBLAM) แจ้งว่า กองทุนรวมทุกประเภทไม่ได้ลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้ของ EA และบลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) (UOBAM) แจ้งว่าทุกกองทุนภายใต้การบริหารจัดการไม่ได้ลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ของ EA เช่นกัน
ขณะที่ บลจ.กรุงศรี (KSAM) แจ้งว่าทั้งกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ได้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ EA ส่วน บลจ.ทิสโก้ และ บลจ.เกียรตินาคิถัทร (KKPAM) แจ้งว่าไม่มีการลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ของ EA เช่นกัน