พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ ได้มีคำสั่งรับคดี 3 ผู้บริหารบมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และหรือทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์ เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ EA ผ่านบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด เมื่อปี 2556 - 2558 เป็นคดีพิเศษแล้ว หลังจากได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่กล่าวทุกข์ร้องโทษบุคคลรวม 3 ราย คือ 1.นายสมโภชน์ อาหุนัย 2.นายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการและผู้บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ 3.นายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ออนไลน์แอสเซ็ท
"ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีฯ จึงมีคำสั่งอนุมัติเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว เพราะในหนังสือที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษพฤติการณ์มาให้ค่อนข้างชัดเจน และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะได้ออกเลขคดีพิเศษให้เป็นไปตามขั้นตอนการธุรการทางคดี" พ.ต.ท.ยุทธนา กล่าว
หลังจากนั้นจึงจะตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดี เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้หากดูตามคำกล่าวหาของ ก.ล.ต.แล้วมีประเด็นที่ดีเอสไอจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมหรือสงสัยก็จะต้องเชิญผู้แทนจาก ก.ล.ต. มาให้ข้อมูล และจะนัดหมายตามวันเวลาที่ ก.ล.ต.สะดวก เพื่อให้มายืนยันคำกล่าวหาด้วย
สำหรับเรื่องยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ก่อนเพื่อป้องกับการยักย้าย ถ่ายเท ระหว่างสืบสวนคดีนั้น ทราบว่า ก.ล.ต.ได้ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนของดีเอสไอเมื่อรับเรื่องไว้และเล็งเห็นว่าเป็นความผิดในคดีมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ดีเอสไอก็จะต้องแจ้งไปยัง ปปง.ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ซึ่งทาง ปปง.จะต้องพิจารณาดูว่าหากข้อกล่าวหาของ ก.ล.ต.เป็นความผิดมูลฐาน ปปง.ก็จะพิจารณาได้เลย
ส่วนแผนประทุษกรรมของ 3 ผู้บริหารบริษัทฯ ตามที่ ก.ล.ต.ร้องทุกข์กล่าวโทษมายังดีเอสไอว่าแต่ละรายทุจริตหรือดำเนินการอย่างไรบ้างนั้นยังเร็วเกินไปที่จะตอบในส่วนนี้ แต่ในชั้นของดีเอสไอดูแค่เพียงว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ส่วนหลักการพิสูจน์ความผิดตามข้อกล่าวหาจะต้องรอให้มีการสอบสวนก่อน ซึ่งหลังจากได้ข้อมูลจาก ก.ล.ต.แล้วจึงจะเชิญเจ้าหน้าที่ของ EA มาสอบถาม เพื่อเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด
ส่วนความแตกต่างในคดีทุจริต EA จะมีความยากหรือง่าย หรือมีความคล้ายกันกับคดีทุจริตบมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) หรือไม่นั้น พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า คดีทั้งสองมีความคล้ายกันแต่ไม่เหมือนไปทั้งหมด ส่วนความยากง่ายของการทำคดีคงต้องดูที่รายละเอียด