บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) งบไตรมาส 2/67 คาดเติบโตโดดเด่นทั้ง YoY จากฐานที่ต่ำในปีก่อน และ QoQ จากราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวลง เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่ทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา และยังได้ประโยชน์จากต้นทุนก๊าซฯ ที่ลดลงจากการบังคับใช้นโยบาย Single Pool Gas
ในระยะยาว GPSC ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง จากกำไรที่เพิ่มขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนหลัก 3 โครงการ คือ ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีในลาว การเริ่มดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง 2 แห่งในไต้หวัน และการขยายกำลังการผลิตของการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย
อีกทั้งในช่วงครึ่งปีหลังนี้ คาดว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่ จะนำไปใช้อย่างเป็นทางการในไตรมาส 4/67 ซึ่ง GPSC เตรียมตัวเข้าประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนตามแผน PDP
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) กสิกรไทย ซื้อ 60.00 ดาโอ ซื้อ 60.00 ธนชาต ซื้อ 47.00 หยวนต้า ซื้อ 57.00 เอเอสแอล ซื้อ 44.00
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า GPSC งบไตรมาส 2/67 คาดเพิ่มขึ้นทั้ง QoQ และ YoY หนุนจากราคาก๊าซลดลงเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่ทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา และยังได้ประโยชน์จากต้นทุนก๊าซที่ลดลงจากการบังคับใช้นโยบาย Single Pool Gas ย้อนหลัง
ส่วนการเติบโตในอนาคต GPSC ยังมีต่อเนื่อง จากคาดแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่จะมีการนำไปใช้อย่างเป็นทางการในไตรมาส 4/67 ซึ่งบริษัทก็เตรียมพร้อมเข้าประมูลพลังงานหมุนเวียนใหม่ในครึ่งปีหลังนี้
ทั้งนี้กำลังการผลิตหมุนเวียนของ GPSC จะเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าจะสูงถึง 6.8 GW ภายในปี 69 คิดเป็น 65% ของกำลังการผลิต หลักๆ มาจากโครงการ Avaada ในอินเดีย (GPSC ถือหุ้น 43%) โดยปัจจุบัน Avaada มีกำลังการผลิตในมือรวมเป็น 14 GW แล้ว
นายปรินทร์ นิกรกิตติโกศล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงาน GPSC ในไตรมาส 2/67 คาดเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) จากฐานที่ต่ำ ขณะที่เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) แนวโน้มทรงตัวถึงดีขึ้น เป็นไปตามปัจจัยฤดูกาล หรือหน้าร้อน หนุนความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนราคาก๊าซฯ ปรับตัวลง จากอุปทานก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นหลังโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) เดินเครื่องผลิตได้เต็มกำลัง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในไตรมาส 2 นี้
รวมถึงอัตราค่าไฟเดือนพ.ค.-ส.ค.ทรงตัวที่ 4.18 บาท/หน่วย, ต้นทุนเชื้อเพลิงได้อานิสงส์จากการเริ่มคำนวณต้นทุนก๊าซตามนโยบาย Single Pool, สัดส่วนการนำเข้า LNG ลดลงจากการเร่งผลิตก๊าซโครงการเอราวัณได้ตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม หากตัดเรื่องค่าไฟออกไป มอง GPSC ในระยะยาวยังเติบโตได้ต่อเนื่อง จากการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า Renewable ในประเทศอินเดีย และไต้หวัน และยังซัพพลายให้กับกลุ่ม PTT อีกด้วย
ยังคงแนะนำซื้อ ด้วยราคาเป้าหมาย 57 บาท โดย P/E ที่ 16 เท่า ถือว่าไม่แพง
บล.ธนชาต ระบุว่า GPSC แนวโน้มยังฟื้นตัวต่อเนื่อง จากคาด spark margin จากโรงไฟฟ้า SPP ยังแข็งแกร่งที่ 1.50, 1.45, 1.45 บาท/หน่วย ในปี 67-69 ซึ่งฟื้นตัวแรงจาก 1.25 บาทในปี 66 บนสมมติฐานที่ระมัดระวังของเราที่มองว่ารัฐบาลจะปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศสู่ระดับเป้าหมายที่ 4.00 บาท/หน่วยในปี 68 (จาก 4.18 บาท ในปีนี้) โดยจะชะลอการชำระหนี้ให้กับ กฟผ. ออกไป
ไม่กังวลมากนักต่อการปรับขึ้นของราคาน้ำมัน และราคา LNG ในตลาดเอเชีย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของราคา pool gas เนื่องจากมองว่าการปรับขึ้นนั้นจะถูกชดเชยด้วย 1.การเฉลี่ยรวมก๊าซจากแหล่งในประเทศเข้า pool ในรูปแบบใหม่ตั้งแต่เดือนมี.ค. และ 2.การปรับลดค่าธรรมเนียมการจัดหาก๊าซสำหรับ SPP ลง เราคาดว่าราคา pool gas จะทรงตัวได้ที่ราว 300-310 บาท/mmbtu ในช่วงปี 67-68
และคาดว่าการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้ารวมจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศลดลง และต่อเนื่องไปสู่การลดลงของอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจทำให้อัตรากำไร SPP ปรับตัวลงในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานทดแทนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และถูกรวมไว้ในประมาณการสำหรับโครงการ SPP ของเราแล้ว นอกจากนี้มองว่าจะยังไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในระยะกลาง บนเป้าหมายการเพิ่มพลังงานทดแทนตามร่าง PDP ใหม่เป็นเพียง 33% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในปี 73 จาก 23% ในปี 67
เราคาดกำไรของ GPSC ในปี 67-69 จะเติบโตได้ 45%, 21%, 12% ตามลำดับ การเติบโตที่แข็งแกร่งในปีนี้ ได้แรงหนุนหลักจากอัตรากำไรของโรงไฟฟ้า SPP ที่เพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว และแม้เราคาดว่าอัตรากำไรของ SPP จะลดลงสู่ระดับปกติในปี 68 แต่ยังเชื่อว่ากำไรจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนหลัก 3 โครงการ คือ ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีในลาว การเริ่มดำเนินการของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง 2 แห่งในไต้หวัน และการขยายกำลังการผลิตของการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย
https://youtu.be/0p7Ec22qnd8