ZoomIn: กลุ่มแบงก์ ครึ่งปีหลังยังปาดเหงื่อ NPL ส่อแววพุ่งต่อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 24, 2024 09:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผ่านพ้นไปแล้วกับการรายงานผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 67 ของกลุ่มแบงก์ มีแบงก์ที่กำไรโตโดดเด่น และกำไรหดตัว ตัวแรง แต่ที่เห็นชัดแน่นอน คือ แนวโน้มของ NPL ของหลายๆ แบงก์ทยอยเพิ่มขึ้น และบางแห่งก็ยังทรงตัวสูง โบรกฯส่องหุ้นกลุ่มแบงก์ครึ่ง ปีหลังยังเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ หลังจากทิศทาง NPL ส่อแววสูงขึ้นอีก อาจกระทบให้การปล่อยสินเชื่อ เข้มงวดขึ้น และ NIM เริ่มทรงตัวตามดอกเบี้ย ทำให้ขาดปัจจัยหนุน

          ธนาคาร   กำไร 1H/67 (ล้านบาท)   เปลี่ยนแปลง     NPL H1/67    NPL สิ้นปี 66
          TTB         10,689                +21%         2.64%        2.62%
          KBANK       26,139                +20%         3.18%        3.19%
          KTB         22,274               +10.10%       3.12%        3.08%
          BBL         22,330                +4%          3.20%        2.70%
          CIMBT        1,294                -5%          2.90%        3.30%
          TISCO        3,482                -5%          2.44%        2.22%
          SCB         21,295               -6.90%        3.34%        3.44%
          BAY         15,751                -8%          3.05%        2.53%
          LHFG           890              -25.90%         3%          2.36%
          CREDIT       1,270              -30.60%        4.50%        4.20%
          KKP          2,275               -35%          4.10%        3.30%

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า รายงานผลการดำเนินครึ่งปี แรกของกลุ่มแบงก์ออกมาแล้ว จะเห็นว่ากำไรดีกว่าคาดเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกำไร Mark to market ของการลงทุนช่วย หนุนผลการดำเนินงาน และรายได้จากดอกเบี้ยที่ยังเป็นบวก

แต่ยังคงเห็นแนวโน้มของ NPL ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มองภาพของกลุ่มแบงก์ยังคงเผชิญความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง มากขึ้น โดยเฉพาะ NPL ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเริ่มเห็นสัญญาณการกระจายตัวของ NPL ไปยังกลุ่มลูกค้าอื่นๆ มากขึ้น นอกเหนือ จากกลุ่มลูกค้าสินเชื่อบ้าน รถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล และเอสเอ็มอี โดยลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่อาจจะต้องมีความระมัดระวังมาก ขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้เป็นความท้าทายค่อนข้างมากของการปล่อยสินเชื่อของกลุ่มแบงก์

ขณะเดียวกัน การที่จะเห็นส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในครึ่งปีหลัง คงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ คาดว่าจะทรงตัวจากครึ่งปีแรกมากกว่า และการที่ธนาคารต่างๆ จะไปรุกตลาดกลุ่มลูกค้าที่ให้ผลตอบแทนสูง แลกกับความเสี่ยงที่สูงคงจะ เห็นภาพดังกล่าวได้ยากเช่นกัน จากสัญญาณของ NPL ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารคงเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพมากกว่า ซึ่งส่งผลต่อรายได้ จากดอกเบี้ยที่อาจไม่ได้เข้ามาเพิ่มมากนัก รวมถึงรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังคงชะลอตัว เป็นความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่แนะนำ "ซื้อ" เลือก KTB เนื่องจากยังเป็นธนาคารที่เห็นผลการดำเนินงาน เติบโตในระดับที่ดีต่อเนื่อง และมี Valuation ค่อนข้างถูกในกลุ่ม โดย P/BV ที่ 0.5 เท่า แต่มี ROE สูงเกือบ 10% อีกทั้งจะได้รับ ประโยชน์จากสินเชื่อส่วนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงการภาครัฐที่ทยอยออกมาในครึ่งปีหลัง ทำให้ยังมีโอกาสเห็นการขยายตัวของสิน เชื่อได้ ให้ราคาเป้าหมาย 18.70 บาท/หุ้น

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.พาย กล่าวว่า ภาพรวมของกลุ่มแบงก์ในครึ่งปีแรกถือว่าออกมาใกล้เคียง กับที่คาดไว้ มาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น จากการที่ดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับที่สูง และ NIM ที่ยังสูง รวมถึงรายได้จาก การ Mark to market ของการลงทุนในต่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าส่วนหนึ่งจะมาจากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแลกเงิน เป็นจำนวนมาก ทำให้มีผลต่อรายได้ในส่วนนี้ แต่ภาพของสินเชื่อยังคงชะลอตัว และ NPL ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น

ครึ่งปีหลังนี้ยังมองภาพความท้าทายของกลุ่มแบงก์ในการดำเนินกลยุทธ์ จากการที่สัญญาณ NPL ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ต้อง มีการควบคุมและคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ส่งผลต่อรายได้จากการให้สินเชื่อที่อาจเริ่มชะลอตัว ตามการให้สินเชื่อที่ยังเห็นการชะลอ ตัวในครึ่งปีหลังเพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ และการเห็นระดับ NIM ที่เริ่มทรงตัว ทำให้ปัจจัยบวกต่อผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้ค่อน ข้างมีความท้าทายมากขึ้น แต่ยังมองว่ายังเป็นหุ้นที่ยังลงทุนได้จากการที่เป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่ง มูลค่าหุ้นยังไม่แพง และให้ปันผลที่ดี

แนะนำ "ซื้อ" KTB มองเป็นหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐเข้ามาหนุนในครึ่งปีหลัง จากการลงทุน โครงการต่างๆ ของภาครัฐที่จะออกมา รวมถึงได้รับประโยขน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐจะทยอยออกมา อีกทั้งการตั้งสำรองฯ ของ KTB ในครึ่งปีหลังคาดว่าจะลดลงหลังจากครึ่งปีแรกคุมคุณภาพสินทรัพย์ไปมาก ทำให้ NPL ในครึ่งปีหลังของ KTB น่าจะเริ่มเห็นการ ทรงตัว ช่วยหนุนผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง อีกทั้งยังมี Valuation ที่ไม่แพง มีผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดี และให้ราคาเป้าหมายที่ 20 บาท/หุ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ