นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ mai ยินดีต้อนรับ บมจ. ไนซ์ คอล เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายใน mai ภายใต้กลุ่มบริการ โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า "NCP" ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567
NCP ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้า และให้บริการทำการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) ผ่านช่องทางการขายทางโทรศัพท์ (Telemarketing) โดยสินค้าที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการจัดจำหน่าย ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ความสวยงาม และสินค้าเวชสำอาง
ปัจจุบันบริษัทมีคู่ค้าพันธมิตรที่ขายสินค้าผ่านช่องทางการขายของบริษัท 42 ราย และมีสินค้าที่จัดจำหน่ายทั้งหมด 57 แบรนด์ 203 รายการ นอกจากนี้ บริษัทได้มีการพัฒนาสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองชื่อ "BN" มีสินค้าออกจำหน่ายแล้ว 21 ผลิตภัณฑ์ ในช่วงปี 2566 บริษัทเริ่มขยายธุรกิจสู่การให้บริการเพิ่มยอดขายสินค้าจากการขายสินค้าครั้งแรก (Upselling Service) และบริการบริหารพนักงานขาย (Dedicated Telesale Outsourcing) ซึ่งเป็นการจัดหาทีมขายผ่านโทรศัพท์เฉพาะเจาะจงให้กับเจ้าของสินค้า
ทั้งนี้บริษัทมีฐานข้อมูลลูกค้าเป้าหมายมากกว่า 5 ล้านรายชื่อ และมีพนักงานขายสินค้าทางโทรศัพท์ ที่เป็นพนักงานประจำและผู้ต้องขังภายใต้โครงการคืนคนดีสู่สังคมกับเรือนจำในหลายพื้นที่ รวม 219 คน ในไตรมาสแรกปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าของคู่ค้า รายได้จากการขายสินค้าแบรนด์ของบริษัท และรายได้บริการ ในสัดส่วนร้อยละ 66 : 31 : 3 ตามลำดับ
NCP มีทุนชำระแล้วหลังเสนอขาย 90 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 130 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 50 ล้านหุ้น โดยเป็นการเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จำนวน 46.25 ล้านหุ้น เสนอขายต่อผู้มีอุปการคุณของบริษัท 2.75 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน 1.00 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 19, 23-24 กรกฎาคม 2567 ในราคาหุ้นละ 2.00 บาท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย IPO 100 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 360 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E Ratio) เท่ากับ 28.14 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิ 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567) หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (fully diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.07 บาท โดยมีบริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วม
นายศรัณย์ เวชสุภาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ไนซ์ คอล เปิดเผยว่า กว่า 10 ปี ที่บริษัททำการตลาดแบบตรง มีระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์หรือ CRM เป็นของตัวเองตั้งแต่ก่อตั้ง ทำให้มีความเข้าใจผู้บริโภคในการขายผ่านโทรศัพท์เป็นอย่างดี และมีฐานข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าที่จะสามารถนำไปต่อยอดในการร่วมวางกลยุทธ์การขายสินค้ากับคู่ค้าพันธมิตร สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ขยายจำนวนพนักงานขายทางโทรศัพท์ในเรือนจำ พัฒนาระบบเทคโนโลยีซอฟต์แวร์และระบบเครือข่ายเพื่อรองรับการเพิ่มจำนวนพนักงาน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
NCP มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ นายศรัณย์ เวชสุภาพร ถือหุ้นร้อยละ 50.56 นายนพพล ชูกลิ่น ถือหุ้นร้อยละ 18.05 นายเอนก อึ้งตระกูล ถือหุ้นร้อยละ 3.61 บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิของงบการเงินบริษัทภายหลังจากหักภาษีและเงินทุนสำรองตามกฎหมาย
นายศรัณย์ คาดว่า หุ้น NCP จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนที่ต้องการลงทุนและร่วมเติบโตไปกับบริษัท ด้วยจุดแข็งที่มีผู้บริหารมากประสบการณ์กว่า 20 ปี ในธุรกิจช่องทางขายผ่านทางโทรศัพท์, มีทีมงานขายสินค้าทางโทรศัพท์มืออาชีพ, มีเทคโนโลยีระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลลูกค้าเป้าหมายของบริษัทมากกว่า 5 ล้านรายชื่อ โดยบริษัทมีระบบการดูแลข้อมูลลูกค้าตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA อย่างเคร่งครัด ตลอดจนมีระบบการบริหารคลังสินค้าพร้อมส่งที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง โดยปี 2564 มีรายได้ 191.23 ล้านบาท กำไร 25.56 ล้านบาท, ปี 2565 มีรายได้ 181.03 ล้านบาท กำไร 20.22 ล้านบาท, ปี 2566 มีรายได้ 173.11 ล้านบาท กำไร 12.53 ล้านบาท และในงวด 3 เดือนแรก ปี 2567 มีรายได้รวม 45.30 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2.75 ล้านบาท
โดยเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปใช้ก่อสร้างอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ให้สามารถรองรับพนักงาน Telesales ได้ 200 ที่นั่งใหม่ ภายในไตรมาส 1 ปี 2568, ก่อสร้างสถานที่ทำงานในเรือนจำ ตามการขยายโครงการคืนคนดีสู่สังคมในเรือนจำ 5 แห่ง ภายในปี 2569, พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และระบบเครือข่าย เพื่อประสิทธิภาพการทำงาน และรองรับการทำงาน ภายในสิ้นปี 2568 และเป็นเงินทุนหมุนเวียน นับเป็นการเพิ่มศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ธุรกิจ E-Commerce มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว Telesales จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจของพันธมิตรและลูกค้า ทำให้ NCP เปรียบเสมือนเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่เข้าไปสนับสนุน Digital Transformation เพื่อให้การดำเนินธุรกิจและการให้บริการลูกค้าเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ด้านนายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า บริษัทมีความมั่นใจและมีความพร้อมในการนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หลังนักลงทุนให้การตอบรับที่ดีจากการเข้าฟังการนำเสนอข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญผ่านออนไลน์ และจองซื้อหุ้น IPO อย่างล้นหลาม ด้วยความเชื่อมั่นในการบริหารงานของคณะผู้บริหาร และปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ในฐานะผู้นำธุรกิจ Telesales แบบครบวงจรของประเทศ พร้อมมองว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2567 บริษัทมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี สอดรับกับเทรนด์ธุรกิจ E-Commerce ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันและมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต สะท้อนภาพการเป็นหุ้น Growth Stock สร้างผลตอบแทนที่ดีแก่นักลงทุน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในหลักทรัพย์ กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ประกาศจะไม่เทขายหุ้นสามัญ จำนวน 99,000,000 หุ้น ออกจากพอร์ต คิดเป็นร้อยละ 55.00 ของทุนจดทะเบียน โดยจะติด Silent Period เป็นระยะเวลา 1 ปี รวมถึงได้ทำสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ในการขอ Lock Up หุ้นเพิ่มเติม ในส่วนที่เกินจากการติด Silent Period จำนวน 31,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 17.22 ของหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขาย IPO โดยจะงดการเสนอขาย หรือโอนด้วยวิธีการใดๆ นับแต่วันที่หุ้นเริ่มซื้อขาย (Lock-Up) เป็นเวลา 1 ปี
ขณะที่ นายกิตติพันธ์ ภูษณวรรณ กรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม (Joint Lead Underwriters) กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 50 ล้านหุ้น เมื่อวันที่19, 23-24 กรกฎาคม 2567 ในราคาหุ้นละ 2.00 บาท คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย IPO 100 ล้าน ซึ่งการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (P/E) เท่ากับ 28.14 เท่า ซึ่งคำนวณจากกำไรสุทธิ 12 เดือน ย้อนหลัง (ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567) หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว โดยจะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.07 บาท ภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (fully diluted) ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจเข้าลงทุนเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และศักยภาพการเติบโต
ส่วน นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนร่วม (Joint Lead Underwriters) กล่าวว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงิน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในหลากหลายมิติแ ละสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมมองว่า NCP เป็นหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูง เพราะ Telesales ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญสำหรับธุรกิจ E-Commerce ที่ช่วยขับเคลื่อนการจำหน่ายสินค้าให้มีประสิทธิภาพที่สูงด้วยต้นทุนที่ถูก โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยศักยภาพของบริษัท จะทำให้ NCP ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน