นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างศึกษาจัดตั้งกองทุนเยียวยาเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ลงทุน โดยเบื้องต้นอาจจะต้องมีการแก้ไขกฏหมายเพื่อเปิดช่องให้นำเงินค่าปรับหรือค่าชดใช้ผลประโยชน์มาจัดตั้งเป็นกองทุน จากเดิมที่นำค่าปรับหรือค่าชดใช้ผลประโยชน์ไปส่งคืนให้กระทรวงการคลังเท่านั้น
ก.ล.ต.ได้มีการนำรูปแบบจากการศึกษารูปแบบกองทุนดังกล่าวจากในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐฯและฮ่องกง พบว่ายังมีรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น การเยียวยาแค่กรณีปั่นหุ้นหรือทุจริต เป็นต้น ส่วนกระบวนการเยียวยาต้องพิจารณาเป็นรายกรณีตามความเหมาะสม โดยต้องพิสูจน์ทราบว่าใครเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ซึ่ง ก.ล.ต.จะนำเอาหลักการและวิธีปฎิบัติเข้าที่ประชุมคณะกรรมการก.ล.ต.ให้อนุมัติก่อน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า ข้อมูลสถิติการบังคับใช้กฏหมายตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (1 ม.ค.-30 ก.ค. 67) พบว่ามีการกล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อพนักงานสอบสวน (บก.ปอศ. และดีเอสไอ) จำนวน 6 กรณี แบ่งเป็นการสร้างราคา 2 กรณี และการทุจริต 4 กรณี
ขณะที่การดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งนั้น มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์/สินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 10 กรณี แบ่งเป็นการสร้างราคา 8 กรณี และการใช้ข้อมูลภายใน 2 กรณี รวมถึงมีการตกลงทำบันทึกการยินยอมปฎิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด 7 กรณี ค่าปรับรวมประมาณ 440 ล้านบาท
ส่วนสถิติการซื้อขายภายหลังการใช้ Uptick rule พบว่าช่วงวันที่ 1-26 ก.ค.67 มูลค่าและปริมาณธุรกรรมการขายชอร์ต (Short selling) ใน SET เฉลี่ยต่อวันลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ (ม.ค.-มิ.ย. 67) โดยแยกเป็นมูลค่าการขายชอร์ตเฉลี่ยต่อวันลดลง 68.01% และปริมาณการขายชอร์ตเฉลี่ยต่อวันลดลง 69.76% รวมถึงธุรกรรมการซื้อขายผ่าน Program Trading หลังใช้มาตรการเฉลี่ยต่อวันใน SET ลดลง เช่นกัน