บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ในกลุ่ม บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ยันถือแต้มต่อสัญญาจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 เป็นหลักประกันถึงสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานในปี 85 โดยเฉพาะกรณีหากไม่ได้รับการต่อสัญญาสัมปทานเส้นทางหลัก ก็ยังผูกพันให้รายใหม่ที่เข้ามารับสัมปทานต้องจ้าง BTSC เดินรถเส้นทางหลักและส่วนต่อขยาย ขณะที่ยังมีหนี้อีกก้อนใหญ่รอทวงกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 13,513 ล้านบาท
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BTSC กล่าวว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทม.และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) ร่วมกันชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 รวมกว่า 11,755 ล้านบาท หาก กทม.และ KT ยังไม่รีบดำเนินการ ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นทุกวัน
"ผมได้รับทราบข่าวจากสื่อว่า เบื้องต้นทาง กทม. พร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท แต่ก็อยากให้ กทม. และ KT คำนึงถึงยอดหนี้ในส่วนที่เหลือด้วยเนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งนับถึงปัจจุบัน ยอดหนี้รวมทั้งหมดเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
BTSC ยินดีและพร้อมที่จะเจรจากับ กทม. และ KT ในการหาทางออกร่วมกันหากข้อเสนอมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้บริการสาธารณะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ซึ่งตามคำสั่งศาลจะต้องดำเนินการภายใน 180 วัน ทั้งนี้ หนี้ที่ได้รับมาบริษัทจะนำไปลงทุนพัฒนาในธุรกิจของบริษัทต่อไป
"ที่ผ่านมาเราต้องกู้เงินมาจ่ายค่าพนักงาน ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่เราเป็นเอกชน คงไม่มีเอกชนไหนที่จะเป็นไฟแนนซ์ให้รัฐบาลได้เหมือนเราอีกแล้ว ภาระดอกเบี้ยปีละ 2,600 ล้านบาท หรือเฉลี่ย วันละ 7 ล้านบาท เกือบครึ่งหนึ่งรายได้ ซึ่งเทียบกับ MLR + 1 หรือ คิดเป็นประมาณ 8% ขณะที่โครงการนี้ มี IRR ประมาณ 9-12% เราได้ 8% ไม่ใช่เรื่องนี้ จริงๆ เพราะเราต้องการเงินไปลงทุนมากกว่า รอดอกเบี้ยหนี้ค้างชำระแบบนี้"นายคีรี กล่าว
นายคีรี กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลชี้ชัดว่า สัญญาจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ที่สิ้นสุดปี 85 นั้นถูกต้อง ซึ่งสัญญานี้จะครอบคลุมไปการเดินรถเส้นทางหลักที่สัมปทานจะหมดในปี 72 ว่า กทม.และ KT จะต้องจ้างบริษัท เดินรถและซ่อมบำรุงในส่วนเส้นทางหลักนี้ไปจนถึงปี 85 รวม เส้นทางหลัก ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ระยะทางรวมทั้งสิ้น 60 กม. เพราะ กทม.ต้องการให้ สายสีเขียวทั้งเส้นทางเป็นระบบเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ กทม.จะศึกษาหาเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เส้นทางหลักหลังสัมปทาน BTSC สิ้นสุดปี 72 นั้นย่อมทำได้ แต่ตามเงื่อนไขนี้ ไม่ว่าใครจะเข้ามาก็จะต้องจ้าง BTSC เดินรถและซ่อมบำรุงต่อไปอีก 13 ปี หรือจนถึงปี 85 จึงต้องรอดูว่า กทม.จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งวันนี้ ทางกทม.ได้เริ่มจ้างที่ปรึกษามาแล้ว
ขณะที่สัมปทานเส้นทางหลัก ระบุว่า ก่อนสัญญาสิ้นสุด 3-5 ปี บริษัทสามารถยื่นร้องขอ กทม.ต่อสัมปทานได้ ส่วนจะยื่นหรือไม่ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อน ภายใต้ความเป็นจริง ภาวะเศรษฐกิจ และภาวะการเดินทางของผู้คนที่ไม่เหมือนเดิม คือ ออกจากบ้านน้อยลง แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าระบบรางยังเป็นการเดินทางที่แก้ปัญหาจราจรได้ดีที่สุด ตอนนี้มองว่าไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ รับจ้างเดินรถทั้งสายไปถึงปี 85 หรือ ยื่นสัมปทานใหม่หลังปี 72
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า สัญญาจ้างเดินรถ มี 2 ฉบับ คือ สัญญาเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยาย 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสัญญาเดินรถและซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่ง BTSC ไม่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่เดือน พ.ค. 62 จนกระทั่งผ่านไป 2 ปี จึงยื่นฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 ยอดหนี้ประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการยื่นฟ้อง ค่า O&M 1
สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสิ้นสุด ณ วันที่ 25 ก.ค.67 มีจำนวนกว่า 39,402 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้
1. การฟ้องครั้งที่ 1 ค่าจ้างช่วงเดือน พ.ค.62-พ.ค.64 คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 26 ก.ค.67 ให้ กทม. และ KT ร่วมกันจ่ายหนี้ให้ BTSC กว่า 11,755 ล้านบาท
2.ฟ้องครั้งที่ 2 ค่าจ้างช่วงเดือน มิ.ย.64-ต.ค.65 ยอดหนี้ที่ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 พ.ย.65 ให้ กทม. และ KT จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เป็นเงินกว่า 11,811 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
3.หนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ที่ค้างชำระ ตั้งแต่เดือน พ.ย.65-มิ.ย.67 กว่า 13,513 ล้านบาท เป็นส่วนที่ยังไม่ได้ฟ้อง
4.ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ในอนาคต ตั้งแต่ปัจจุบัน (เดือนมิ.ย.67 จนถึงสิ้นสุดสัมปทานปี 85 หาก กทม.และ KT ยังไม่จ่ายก็จะเป็นหนี้ในอนาคตต่อไป