PCE รอสตาร์ทขายหุ้น IPO รับแนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปี 67-69 โตต่อเนื่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 1, 2024 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

PCE รอสตาร์ทขายหุ้น IPO รับแนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปี 67-69 โตต่อเนื่อง

นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) กล่าวว่า PCE เตรียมความพร้อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 750 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 27.27% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดหลัง IPO เนื่องจากล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์แล้ว

PCE รอสตาร์ทขายหุ้น IPO รับแนวโน้มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปี 67-69 โตต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์ที่ PCE เสนอขายหุ้น IPO เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อขยายกำลังการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม PCE

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PCE กล่าวว่า กลุ่ม PCE เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรของไทย ซึ่งมีความพร้อมในการจัดการระบบซัพพลายเชน (Supply Chain) ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมีประสบการณ์ในธุรกิจน้ำมันปาล์มกว่า 40 ปี เน้นการขยายธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด "ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ด้วยผลิตภัณฑ์คุณภาพและบริการครบวงจร สู่ความมั่นคงและยั่งยืน"

ปัจจุบันแบ่งธุรกิจหลักเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.) กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค รวมถึงรับซื้อ น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องมาจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า 2.) กลุ่มธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ 3.) กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ และ 4.) กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ

กลุ่มบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มหลากหลายรองรับการใช้งานทั่วทุกอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1.น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สำหรับกลั่นเพื่อเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อใช้ในการบริโภค รวมทั้งกลั่นเพื่อนำมาใช้ในการอุปโภค และผลิตน้ำมันไบโอดีเซล 2.น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ผลิตกรดไขมันประเภทต่างๆ รวมถึงผลิตน้ำมันไบโอดีเซล 3.น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น อีกทั้งยังใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มโอเลอีนเพื่อการบริโภค 4.น้ำมันไบโอดีเซล (B100) 5.น้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) จำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหารและจำหน่ายแก่ภาคครัวเรือนภายใต้แบรนด์ "รินทิพย์" นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้จากการผลิต (By Product) อาทิ กลีเซอรีน (Glycerin) ใช้เป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์รอบตัว เช่น เครื่องสำอาง อาหาร ยา สบู่ เป็นต้น

ณ ปี 66 กลุ่มบริษัทฯ มีอัตรากำลังการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) สูงสุดที่ 330,000 ตันต่อปี กำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) สูงสุดที่ 432,000 ตันต่อปี น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPO และ RBDPKO) สูงสุดที่ 540,000 ตันต่อปี และน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) สูงสุดที่ 75,000 ตันต่อปี โดยจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบมาอย่างยาวนาน ทั้งกลุ่มภาคอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น บมจ.ปตท. (PTT) เชฟรอน บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) คาลเท็กซ์ เชลล์ เป็นต้น

อีกทั้งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบอันดับ 1 ของประเทศผ่านตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศเพื่อจำหน่ายให้กับคู่ค้าในประเทศต่างๆ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย จีน และประเทศในแถบยุโรป เป็นต้น โดยมีปริมาณการส่งออกมากกว่า 50% ของปริมาณเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ คิดเป็นการส่งออกปีละไม่ต่ำกว่า 5 แสนตัน

นายประกิต กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในช่วง 3 ปีนับจากนี้ (67-69) มีทิศทางขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามกำลังซื้อภายในประเทศ และความต้องการใช้ในต่างประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคอุปโภค ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มพลังงานทดแทนที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้โอเลโอเคมิคอลเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง สบู่ ครีมบำรุงผิว เป็นต้น ตลอดจนอุตสาหกรรมน้ำมันไบโอดีเซล สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ

ขณะที่ผลผลิตของเมล็ดปาล์มลดลงเล็กน้อย 1-2% ต่อปีกรณีเกิดภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ผลผลิตปาล์มยังมีปัจจัยหนุนจากพื้นที่เพาะปลูกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2-3 แสนไร่ต่อปี จากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกให้มากกว่า 10 ล้านไร่ภายในปี 72 เพื่อเป็นพลังงานทดแทน คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เฉลี่ยของไทยในปี 67-68 จะอยู่ที่ 3.3-3.5 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 3.6-3.9 ล้านตันต่อปีในปี 69 จากนั้นคาดว่าจะเพิ่มเป็น 5 ล้านต้นในอนาคต

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศในระยะ 3 ปี คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3-5% ต่อปี ประกอบด้วย ความต้องการใช้ภายในประเทศปีละกว่า 2 ล้านตัน แบ่งเป็นบริโภคและอุปโภค 1 ล้านตันเศษ และใช้ผลิตพลังงาน 1 ล้านตันเศษ ส่วนที่เหลือเป็นการส่งออกไปยังประเทศที่มีความต้องการ เช่น มาเลเซีย อินเดีย จีน และประเทศในแถบยุโรป เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ