บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/67 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 8,577 ล้านบาท เติบโต 19% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และเพิ่มขึ้น 1.5% จากไตรมาสก่อน (QoQ) ส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในไตรมาส 2/67 ที่ 27,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% จาก YoY เร่งตัวขึ้นจากการรับรู้ EBITDA ของ บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ร่วมกับการเติบโตของธุรกิจหลัก ขณะที่ลดลง 0.5% QoQ จากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่สูงขึ้น ขณะที่อัตรากำไร EBITDA (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้น 54%
รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 30,775 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ เติบโต 1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยังคงได้รับปัจจัยบวกมาจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวและสัมผัสมรดกวัฒนธรรมของไทยส่งผลให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 45.7 ล้านเลขหมาย โดยผู้ใช้งาน 5G ยังคงเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 10.6 ล้านเลขหมาย เติบโตขึ้น 36% จากไตรมาส 2 ปีก่อน อีกทั้ง AIS สามารถให้บริการ 5G ได้ครอบคลุมแล้วกว่า 95% ของพื้นที่ประชากร ด้วยการถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง ที่ครอบคลุมการให้บริการในทุกรูปแบบ
ส่วนรายได้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ที่ 7,284 ล้านบาท เติบโตอย่างแข็งแกร่ง 155% เมื่อเทียบกับปีก่อนและเติบโต 2.3% จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการขยายฐานผู้ใช้บริการที่มุ่งเน้นคุณภาพ และลูกค้าใหม่ที่มีระดับ ARPU สูง โดยธุรกิจบรอดแบนด์ ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายใต้ AIS 3BB FIBRE3 อยู่ที่ 4.9 ล้านราย เติบโตขึ้น 66,900 ราย โดยสามารถทำรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้รายได้ของ 3BB FIBRE3 และการนำเสนอสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมบรอดแบนด์ไฟเบอร์ที่มากกว่าเน็ตบ้าน ตอบโจทย์ทุกบ้าน ทุกธุรกิจ
ขณะที่รายได้บริการลูกค้าองค์กร (ไม่รวมโทรศัพท์เคลื่อนที่) อยู่ที่ 1,524 ล้านบาท เติบโตขึ้น 14% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้รายได้ของ TTTBB และเติบโต 5.6% จากไตรมาสก่อน โดยธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร สร้างการเติบโตสอดคล้องกับการขับเคลื่อนดิจิทัลขององค์กรทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรมของไทย ประกอบกับความมุ่งมั่นในการนำขีดความสามารถของโครงข่ายอัจฉริยะเข้าเชื่อมต่อการทำงานกับภาคธุรกิจ เพื่อยกระดับศักยภาพการทำงานขององค์กรต่างๆ ดังเช่นการประกาศแผนความร่วมมือครั้งสำคัญกับผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับโลก Oracle Alloy เปิดตัวบริการ AIS Cloud ทำให้ประเทศไทยมีบริการคลาวด์ระดับ Hyperscale Cloud ที่จะพร้อมให้บริการในไตรมาส 1 ปี 2568 เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 รายได้จากการให้บริการหลักอยู่ที่ 79,665 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการรับรู้รายได้TTTBB และการรักษาแนวโน้มการเติบโตของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รายได้การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังคงฟื้นตัวขึ้น เติบโตขึ้น 4.0%จากปีก่อน ตามการเติบโตของการใช้ข้อมูลและรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในขณะที่บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 159% จากปีก่อนเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการ TTTBB ร่วมกับการเติบโตไปยังพื้นที่ใหม่ๆ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ ARPU จากกลยุทธ์ส่งเสริมการขายพ่วงบริการคอนเทนต์สำหรับรายได้บริการลูกค้าองค์กรและอื่น ๆ เติบขึ้น 33% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการรับรู้รายได้TTTBB และการเติบโตขึ้นของความต้องการบริการเชื่อมต่อสื่อสาร
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 EBITDA เติบโต 21% จากปีก่อน จากการรับรู้ผลประกอบการของ TTTBB และการเติบโตของธุรกิจปกติ โดยกำไรสุทธิในงวดครึ่งปีแรกอยู่ที่ 17,028 ล้านบาท เติบโต 22% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นและการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก 3BBIF
แม้ว่าผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2567 จะเติบโตมากกว่าการคาดการณ์จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ฟื้นตัวตามความต้องการการใช้งานข้อมูลที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามเอไอเอสมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังสำหรับการเติบโตในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 และคงมุมมองการเติบโตในระดับเดิมจากปัจจัยเชิงฤดูกาลในไตรมาส 3/2567 และความไม่แน่นอนของแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงการปรับประมาณการณ์ของ GDP ไทยเติบโตในระดับที่ต่ำลง การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน และสัญญาณการฟื้นตัวช้าของ ผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง
เอไอเอสคงคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในระดับ 14-16% สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของรายได้การให้บริการหลักที่คงประมาณการเติบโต 13-15% จากค่าใช้จ่ายที่มีการเบิกใช้น้อยกว่างบประมาณในครึ่งปีแรกของปี 2567 โดยคาดว่าค่าใช้จ่ายจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลังของปี2567 เพื่อคงตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรม
พร้อมคงงบประมาณการลงทุน (ไม่รวมคลื่นความถี่) ประมาณ 25,000-26,000 ล้านบาท