นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า งวดครึ่งแรกของปี 67 IRPC มีรายได้สุทธิกว่า 148,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับงวดครึ่งแรกของปี 66 จากราคาขายเพิ่มขึ้น 9% ตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมทั้งมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันถึง 2,138 ล้านบาท ทำให้ EBITDA อยู่ที่ 6,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 187% ดันกำไรสุทธิ 812 ล้านบาท
บริษัทพร้อมเดินหน้าขายน้ำมันอากาศยาน Jet A1 มาตรฐาน JIG รองรับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเติบโต โดย IRPC ประสบความสำเร็จในการขยายตลาดน้ำมัน Jet A1 คุณภาพสูง ตามมาตรฐานสากล JIG (Joint Inspection Group) ไปยังประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสามารถในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้บริษัทฯ
สำหรับความก้าวหน้าของธุรกิจปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก พีพี (Polypropylene) "POLIMAXX" 4 เกรด ได้แก่ K4510B K4520UB, K4527B และ 1140VC ได้รับการรับรองฉลากรักษ์สิ่งแวดล้อม UL Environmental Claim Validation (ECV) label จาก Underwriter Laboratories หรือ UL ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรายแรกของประเทศไทย แสดงถึงความมุ่งมั่นในการใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก ที่มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
IRPC ได้ขยายการลงทุนในบริษัทนวัตกรรมด้านวัสดุขั้นสูง (Advance Materials) บริษัท คลีนเทค แอนด์ บียอนด์ จำกัด (Cleantech & Beyond) ที่เป็นการลงทุนโดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP (Intellectual Property) ของ IRPC ที่เกิดจากงานวิจัยที่ร่วมทำงานกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ในบริษัท Startup สร้างการเติบโตในระยะยาวและตอบโจทย์เมกะเทรนด์ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Step up & beyond ของบริษัท
นอกจากนี้ IRPC ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน Sustainability-Linked Forward Contracts ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นนวัตกรรมสัญญาอนุพันธ์ทางการเงิน ที่มีต้นทุนอ้างอิงกับผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) ที่เชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ
นายกฤษณ์ กล่าวว่า บริษัทฯ คาดสถานการณ์ตลาดน้ำมันช่วงไตรมาส 3/67 ความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมจะเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการผลิตน้ำมันเบนซินในช่วง Driving Season และความต้องการน้ำมันเตา เพื่อผลิตไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งในหลายประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความไม่แน่นอนในตลาดน้ำมันดิบ
สำหรับตลาดปิโตรเคมีช่วงไตรมาส 3/67 กำลังการผลิตใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี กดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโอเลฟินส์ปรับตัวลดลง ขณะที่ความต้องการกลุ่มสไตรีนิกส์โดยเฉพาะ ABS มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นช่วงปลายไตรมาสนี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Manufacturing Season ของธุรกิจปิโตรเคมี