THAI กำไร Q2/67 ลดฮวบ 86% รับค่าใช้จ่ายพุ่ง-ขาดทุน FX มั่นใจปีนี้เข้าเป้าพร้อมลุย MRO อู่ตะเภา

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 9, 2024 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

THAI กำไร Q2/67 ลดฮวบ 86% รับค่าใช้จ่ายพุ่ง-ขาดทุน FX มั่นใจปีนี้เข้าเป้าพร้อมลุย MRO อู่ตะเภา

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 2/67ที่ 314 ล้านบาท ลดลง 86.2% จากไตรมาส 2/66 ที่มีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 4,401 ล้านบาท ลดลง 52.7% จากไตรมาส 2/66 ที่มีอยู่ 9,307 ล้านบาท

แม้ว่าในไตรมาส 2/67 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 37,381 ล้านบาท แต่ลดลง 4.3% จากไตรมาส 1/67 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่ความต้องการเดินทางอยู่ในระดับต่ำสุดของปี และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 73.2%

THAI กำไร Q2/67 ลดฮวบ 86% รับค่าใช้จ่ายพุ่ง-ขาดทุน FX มั่นใจปีนี้เข้าเป้าพร้อมลุย MRO อู่ตะเภา

ขณะที่บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 38,056 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32.1% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการขนส่งเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ ที่ได้รับจากสายการบินไทยสมายล์ และมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,796 ล้านบาท รวมทั้งมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน และขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท

THAI กำไร Q2/67 ลดฮวบ 86% รับค่าใช้จ่ายพุ่ง-ขาดทุน FX มั่นใจปีนี้เข้าเป้าพร้อมลุย MRO อู่ตะเภา

สำหรับงวด 6 เดือนแรกปี 67 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14.0% และกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท ลดลง 81.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 18,402 ล้านบาท โดยมี EBITDA สูงกว่างบประมาณที่ตั้ง ไว้ ในขณะที่กำไรสุทธิต่ำกว่างบประมาณเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/67 เป็นไปตามประมาณการ เพราะปีที่แล้วเป็นปีที่ผิดปกติ ธุรกิจการบินเพิ่งเริ่มฟื้นตัว เครื่องบินหรือซัพพลายในตลาดมีน้อยกว่าดีมานด์มาก ทำให้ผลประกอบการปีที่แล้วดีเกินคาดอย่างมาก แต่ในปีนี้ธุรกิจการบินเริ่มกลับเข้าสู่ปกติ แต่จำนวนเครื่องบินก็ยังไม่มากเท่าปีก่อนโควิด รวมถึงขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จากเงินบาทอ่อนค่า โดยสิ้นมิ.ย.67 เงินบาทอยู่ที่ 37.01 บาท/ดอลลาร์ จากสิ้นปี 66 เงินบาทอยู่ที่ 34.30 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 6,400 ล้านบาท

อีกทั้งในไตรมาส 2/67 เป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) ซึ่งในอดีตการบินไทยขาดทุนในไตรมาส 2 แทบทุกปี แต่ในปีนี้ บริษัทสามารถทำกำไรได้

นายชาย คาดว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะอยู่ในช่วง High Season ยกเว้นเดือน ก.ย.ที่เป็นช่วง Low Season และเงินบาทปัจจุบันก็กลับมาแข็งค่าขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก โอกาสขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนก็น้อยลง ไม่มีด้อยค่าสินทรัพย์แล้ว แต่ใช้คืนหนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง 7,000 ล้านบาทจากครึ่งแรกที่จ่ายไปแล้ว 4,600 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในประมาณการ ทั้งนี้ เชื่อว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้มีรายได้รวม 1.8 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทมีสภาพคล่องสูง โดยสิ้น มิ.ย.67 มีอยู่ 8.1 หมื่นล้านบาท บริษัทไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่มีปัญหาส่วนของทุนมากกว่าที่เกิดจากการขาดทุนสะสมต่อเนื่องซึ่งมีจำนวนมาก ทำให้โครงสร้างทุนอ่อนแอ ดังนั้นเมื่อโครงสร้างทุนกลับมาแข็งแรงบริษัทจะเดินหน้าลงทุนในอนาคตได้

ปัจจุบัน การบินไทยมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 77 ลำ ในไตรมาส 4 ปีนี้ จะรับมอบเพิ่มอีก 2 ลำ จะทำให้สิ้นปี 67 มีเครื่องบิน 79 ลำ ส่วนในปี 68 จะรับมอบเครื่องบินลำตัวกว้าง A330 1 ลำ และ ในปี 69 รับมอบอีก 2 ลำเป็นครื่องบินลำตัวกว้าง 787-9 จำนวน 2 ลำ ส่วนเครื่องบินลำตัวแคบ A321 จำนวน 12 ลำจะรับมอบในปี 68-69

ทั้งนี้ บริษัทเช่าเครื่องบินมือสองเพื่อมาทำการบินในช่วงที่รอเครื่องบินใหม่เข้ามาที่บริษัทจัดหาเครื่องบินใหม่แบบลำตัวกว้าง 45 ลำ และยังมีออปชั่นซื้อเพิ่ม 35 ลำ ที่จะทยอยรับมอบใน 10 ปี เริ่มปี 2570 แต่หากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกถดถอย การบินไทยก็จะยกเลิกออปชั่นที่จะซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 35 ลำได้

*พร้อมเดินหน้าลงทุน MRO ที่อู่ตะเภา

นายชาย กล่าวว่า บริษัทพร้อมลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา โดยได้ทำการศึกษามาตลอด แต่ปัจจุบัน สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังไม่ได้แจ้งมาว่าจะยังให้สิทธิกับการบินไทยเข้าไปดำเนินการโครงการนี้หรือไม่ เพราะปัจจุบัน การบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว อย่างไรก็ดี หาก EEC เปิดประมูล การบินไทยพร้อมเข้าร่วมแต่ก็ต้องขอดูเงื่อนไข EEC ก่อน

ทั้งนี้ เห็นว่า การบินไทยถือว่าเป็นผู้ประกอบการไทยที่พร้อม และมีดีมานด์เครื่องบินที่พร้อมเข้าซ่อมบำรุงได้ เพราะการบินไทยมีจำนวนเครื่องบินอยู่มาก และในอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีจำนวนเครื่องบินราว 130-150 ลำ จากปัจจุบัน 77 ลำ นอกจากนี้ บริษัทได้ดึงพันธมิตรในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบิน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้ามาร่วมทุนโครงการนี้

"ต้องดูว่าเปิดประมูลแล้วใครจะสนใจ ถ้าไม่ใช่การบินไทย ผู้ประกอบการคนไทย มีดีมานด์การซ่อมและเกิดขึ้นได้เร็ว ..การเปิด MRO ที่อู่ตะเภาเป็นสิ่งที่เราต้องการ แผนงานเตรียมไว้แล้ว พร้อมเดินหน้า"

*ปรับกลยุทธ์ขายตั๋วแบบ Network ช่วยเพิ่มผู้โดยสาร

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญคือกลยุทธ์การขายเป็นแบบ Network มากขึ้น แทนที่จะชายแบบ Point to Point ซึ่งทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น แม้อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่นในไตรมาส 2 โดยการเดินทางแบบ Network ที่ทำให้ผู้โดยสารเชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวก อาทิ จากลอนดอนไปกรุงเทพต่อด้วยซิดนีย์ การใช้กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารมากขึ้น อีกทั้งการเชื่อมต่อกับเส้นทางในประเทศที่มีสายการบินไทยสมายล์รองรับอยู่แล้ว ทำให้ Cabin Factor ดีขึ้น และไม่ต้องแข่งกับสายการบินโลว์คอสต์ ก็ทำให้ผลการดำเนินงานของไทยสมายล์ก็ดีขึ้นด้วย

ส่วนเครื่องบินที่จะรับมอบในไตรมาส 4 ปีนี้อีก 2 ลำ นายกรกฎ ชาตะสิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ THAI กล่าวว่า บริษัทจะนำไปเพิ่มความถี่ในเส้นทางอินเดีย ได้แก่ นิวเดลี มุมไบ ละฮอร์การาจี เป็นต้น

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค. Cabin Factor ในเส้นทางยุโรป สูงถึง 85% และคาดว่า ส.ค.จะใกล้เคียงในก.ค. ขณะที่ออสเตรเลีย Cabin Factor ก็สูงถึง 80% ส่วนในประเทศ สูงถึง 90%

ส่วนเส้นทางจะกลับมาบิน กรุงเทพ- มิลาน เริ่มบิน 1 ก.ย.นี้ มียอดจองเกิน 75% แล้ว และยอดจอง กรุงเทพ- ออสโล ยอดจอง 91% ในส.ค. สำหรับกรุงเทพ -บรัสเซลส์ จะกลับมาบิน 1 .ค.67

นายกรกฎ กล่าว่า ยังมีอีก 2 เมืองในยุโรป คือ โรม และมาดริดที่ยังไม่ได้กลับมาบิน ขอเวลาศึกษาก่อน และขณะนี้จำนวนเครื่องบินไม่พอ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ