SCB WEALTH เปิดตัว "No Gain No Pay" นำร่องกองทริกเกอร์หุ้นไทย 8 เดือนถ้าไม่ได้ตามเป้าเว้นค่า fee

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 13, 2024 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB WEALTH  เปิดตัว

นายศรชัย สุเนต์ตา รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB WEALTH นำร่องเปิดตัว No Gain No Pay แนวคิดใหม่ของการลงทุน ที่ยึดผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front end fee) และค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ (Management Fee) หากมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และจะคิดค่าธรรมเนียมรับซื้อคืน (Back end fee) ที่มีความยุติธรรม โดยจะเก็บก็ต่อเมื่อกองทุนมีกำไรหรือทำได้ตามเป้าหมาย เพื่อตอกย้ำว่าธนาคารให้การดูแลลูกค้าเสมือน Thought Partner และสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับนักลงทุน SCB WEALTH ยึดมั่นในหลักการของ Open architecture ในการสรรหาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ตอบโจทย์ และคัดเลือก Best in class ให้กับลูกค้า โดยเราจะคัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุนจากภายนอกธนาคารมานำเสนอให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์การลงทุนให้มีความหลากหลาย รวมทั้งมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเหมาะสมในแต่ละภาวะการลงทุน

ล่าสุด เราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ โดยการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดทิสโก้ ทาร์เก็ต 8M1 (TTARGET8M1)บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ซึ่งธนาคารเป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงรายเดียว ในระหว่างวันที่ 14 - 28 สิงหาคม 2567 เงินลงทุนขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท

กองทุน TTARGET8M1มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน โดยมุ่งเน้นการลงทุนในหุ้นไทย โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ / หรือตลาดเอ็มเอไอ รวมถึงตลาดหลักทรัพย์อื่นๆที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคง และมีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ดี คัดเลือกลงทุนในหุ้นไทยที่มีระดับราคาน่าสนใจ ได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

สำหรับการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละรายโดยอัตโนมัติ ภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่เกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขการเลิกกองทุน เงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งดังนี้ คือ ภายในระยะเวลา 8 เดือน นับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม เมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.82 บาท ณ วันทำการใด หรือเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันขึ้นไป และทรัพย์สินของกองทุนเป็นเงินสด และ/หรือเงินฝาก และ/หรือทรัพย์สินอื่นใดที่เทียบเท่าเงินสดบางส่วนหรือทั้งหมด สามารถรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติได้ไม่ต่ำกว่า 10.60 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ตาม หากหน่วยลงทุนมีมูลค่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 8 เดือน นับตั้งแต่วันถัดจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ และเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.30 บาท ณ วันทำการใด หรือเป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันขึ้นไป และทรัพย์สินของกองทุนเป็นเงินสด และ/หรือเงินฝาก และ/หรือทรัพย์สินอื่นใดที่เทียบเท่าเงินสดบางส่วนหรือทั้งหมด สามารถรับซื้อคืนโดยอัตโนมัติได้ไม่ต่ำกว่า 10.20 บาทต่อหน่วย

โดยบริษัทจัดการจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน 2% ก็ต่อเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนถึงเป้าหมาย ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 10.82 ติดต่อกัน 3 วัน ภายในระยะเวลาที่กำหนด 8 เดือน แต่หากหลังครบระยะเวลา 8 เดือน บริษัทจัดการจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนก็ต่อเมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนมากกว่าหรือเท่ากับ 10.10 บาท ในอัตรา 0.5% และ หากมูลค่าหน่วยลงทุนต่ำกว่า 10.10 บาท จะไม่คิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการและรับซื้อคืน ทั้งนี้ กองทุนที่อยู่ในแนวคิดใหม่ของการลงทุนนี้ จะต้องมีสัญลักษณ์ของ No Gain No Pay เท่านั้น

นายศรชัย กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะสนับสนุนให้มูลค่าหน่วยลงทุนเติบโตไปถึงเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนด 8 เดือน มีดังนี้คือ 1) SCB CIO คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. เพื่อให้สอดคล้องกับ ศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และ ภาวะเงินเฟ้อที่ต่ำ ซึ่งจากสถิติในอดีต หลัง กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดหุ้นไทยมักปรับตัวขึ้น และจะได้อานิสงส์ด้านผลประกอบการ รวมถึง งบดุลที่แข็งแกร่งขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่ลดลง นอกจากนี้ แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจเร่งขยายตัว

2) ดิจิทัล วอลเล็ต จะส่งผลบวกในหุ้นภาคการบริโภค หลังจากที่กระทรวงการคลัง เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา และ ให้ร้านค้าลงทะเบียน วันที่ 1 ต.ค. นี้ คาดว่าโครงการนี้ จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในช่วงไตรมาส 4 ได้ ช่วยหนุนผลประกอบการหุ้นที่เกี่ยวกับภาคการบริโภค เช่น กลุ่มค้าปลีก และ กลุ่มอาหาร เป็นต้น

3) กองทุน ThaiESG เงื่อนไขใหม่ และการกลับมาของกองทุนวายุภักษ์ โดยครม.ได้อนุมัติเกณฑ์ใหม่กองทุนThaiESG ให้ผู้ซื้อลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเพิ่มเป็นไม่เกิน 300,000 บาท และลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี นับจากวันที่ลงทุน พร้อมขยายขอบเขตการลงทุนให้ครอบคลุมเพิ่มเติมด้านธรรมาภิบาล ส่งผลให้ครอบคลุมหุ้น ในดัชนี SET/mai เพิ่มขึ้น บวกกับแผนการนำกองทุนวายุภักษ์กลับมา โดยปรับเกณฑ์ใหม่ และคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ซึ่งจะช่วยหนุนเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย

นอกจากนี้ ผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Bloomberg Consensus ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 คาดการณ์ว่า EPS ของดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะเติบโตประมาณ 17% เทียบปีก่อนหน้า ส่วนในเชิง Valuation ของดัชนี ก็ถือว่าซื้อขายในระดับที่ไม่แพง โดยราคาต่อกำไรต่อหุ้นในระยะ 12 เดือนข้างหน้า (Forward PE) อยู่ที่ 13.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดหุ้นไทย และมองเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับการลงทุนได้อย่างถูกจังหวะ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ