กมธ.ฟอกเงิน ข้องใจคดี STARK ล่าช้า-ละเว้นฟ้องผู้บริหารคนสำคัญแม้พบโยกเงินก้อนใหญ่เทค บจ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 14, 2024 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.เลย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบคดี บมจ. สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ว่า คณะอนุกรรมาธิการติดตามและศึกษาคดีฉ้อโกงของ STARK ที่มี นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้จัดรายงานเสร็จเรียบร้อย พร้อมส่งให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ คณะอนุ กมธ. มีการตั้งข้อสังเกตุว่า คดี STARK เป็นคดีฉ้อโกงประชาชน มีความเสียหายราว 14,778 ล้านบาท มีผู้เสียหายที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้จำนวน 4,692 ราย และผู้ลงทุนสถาบัน 12 ราย แต่อัยการสั่งฟ้องบุคคลและนิติบุคคล เพียง 11 ราย และมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายชินวัฒน์ อัศวโภคี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหาร STARK โดยกันไว้เป็นพยานทุกกรณี ทั้งที่มีการเข้าไปเทคโอเวอร์ บมจ.เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (MPIC) ของนักร้องชื่อดังที่ปรากฏมีการเปลี่ยนมือให้นักร้องไปซื้อหุ้นแทนมูลค่า 650 ล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบที่มาหรือพยานแต่อย่างใด ทั้งนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบเงินดังกล่าว แต่ไม่ได้แจ้งว่าได้ดำเนินการไปแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ อนุ กมธ.ฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า เหตุใดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ไม่ทราบว่ามีการปั่นหุ้นหรือไม่ ทั้งที่คดีนี้ล่วงเลยมานานแล้ว และสร้างความเสียหายให้กับประชาชน หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไม่ทราบว่ามีการกระทำความผิด

รวมถึงการสอบสวนเส้นทางการเงินที่มีความเชื่อมโยงกับผู้กระทำความผิด ซี่ง DSI และ ปปง. ต้องเน้นเรื่องนี้ หากไม่มีเส้นทางการเงินถึงกันก็จะพิจารณาว่าบุคคลเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งไม่น่าจะใช่วิธีการตรวจสอบทรัพย์สินในคดีฟอกเงิน ดังนั้นจึงเห็นว่าการดำเนินคดีไม่ควรเน้นเรื่องไม่มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกันเพียงอย่างเดียว แต่ควรเน้นถึงความสัมพันธ์ และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

นายเลิศศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ทั้ง ดีเอสไอ และ ปปง. ไม่ได้ดำเนินคดีหรือแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องกับการทำความผิด ในข้อหาพยายาม หรือสมคบ หรือสนับสนุนการฟอกเงิน แม้ข้อเท็จจริงเป็นที่เข้าใจได้ว่าในการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าวต้องมีการเตรียมการกระทำความผิดมาเป็นอย่างดี แต่ไม่ได้สอบสวนในพฤติกรรมของการทำความผิด หรือมีการดำเนินการกับทรัพย์สิน เช่น ยึด หรือ อายัดทรัพย์สิน ดังนั้นหากหน่วยงานรัฐยังไม่ดำเนินการออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ทาง กมธ. ก็จะเข้าไปติดตามตรวจสอบในเรื่องนี้อีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ