นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า ในปีนี้มีแผนการรับมอบเครื่องบินเข้ามา 5 ลำใหม่ นำไปเพิ่มความถี่เส้นทางบินเดิมและเปิดเส้นทางระหว่างประเทศใหม่ โดยเฉพาะจุดหมายใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำการบินมาก่อน อาทิ เส้นทาง กรุงเทพฯ - ปีนัง มาเลเซีย เริ่มทำการบินเมื่อเดือน เม.ย. พร้อมเดินหน้าบุกตลาดอินเดีย เปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - อาห์เมดาบัด ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มบิน 15 ส.ค.
และในไตรมาส 4 เตรียมเปิดเส้นทาง กรุงเทพฯ - อัมริตสาร์ อินเดีย และเส้นทาง กรุงเทพฯ - ฮ่องกง ขณะเดียวกันจะเพิ่มความถี่เส้นทาง กรุงเทพฯ - ไทเป - โตเกียว (นาริตะ) ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้เสรีภาพการบินที่ 5 (Fifth Freedom) เลือกกรุงไทเป (ไต้หวัน) เป็นจุดแวะรับส่งผู้โดยสาร จากปัจจุบันมี 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ จะเพิ่มเป็น 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ในปลายปีนี้
"อินเดียเป็นตลาดที่มีดีมานด์การเดินทางสูงอยู่แล้ว จากฐานประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน โดยเฉพาะในเมืองรองของอินเดีย พบว่ามีดีมานด์อยากมาเที่ยวประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กรุงเทพฯ และภูเก็ต เมื่อเปิด 2 เส้นทางใหม่สู่อินเดีย จะทำให้ในปีนี้ไทยไลอ้อนแอร์มี 5 เส้นทางบินสู่อินเดีย ได้แก่ มุมไบ บังกาลอร์ โคชิ อาห์เมดาบัด และอัมริตสาร์ คาดมีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) ไม่ต่ำกว่า 70-75%"
ส่วนตลาดจีน ปัจจุบันให้บริการเส้นทางบินประจำ 6 เส้นทาง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว หางโจว เซินเจิ้น ซีอาน และเฉิงตู ขณะเดียวกันให้บริการเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟล์ท) ไปเมืองอื่นๆ ด้วย มีโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ย 65% โดยตั้งเป้าหมายฟื้นฟูตลาดกลับมาให้บริการ 80% ในเชิงจุดบินภายในปีนี้ จากก่อนโควิดให้บริการเส้นทางบินสู่จีนมากถึง 22 จุดบินท่ามกลางความท้าทายจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม จากที่มีมาตรการยกเว้นวีซ่า (วีซ่าฟรี) ถาวรระหว่างไทย-จีน มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค. 2567 ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการเดินทางพอสมควร มีกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันยังนิยมจองบัตรโดยสารแบบกระชั้นชิด 1-4 สัปดาห์ล่วงหน้า ส่วนตลาดคนไทยก็นิยมเดินทางไปเที่ยวจีนมากขึ้น มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 20% ของผู้โดยสารเส้นทางจีน
ส่วนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย ก่อนโควิดเคยทำการบิน 4 เส้นทาง ได้แก่ โตเกียว โอซาก้า นาโกย่า และฟุกุโอกะ ปัจจุบันกลับมาให้บริการแล้ว 1 เส้นทาง คือ โตเกียว เล็งว่าในปี 2568 จะกลับมารุกทำตลาดเส้นทางบินญี่ปุ่นอีกครั้ง
ทั้งนี้ ไทยไลอ้อนแอร์ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีผู้โดยสารรวม 6-7 ล้านคน จากโหลดแฟคเตอร์เฉลี่ยทั้งปี เส้นทางในประเทศอยู่ที่ 85% และเส้นทางระหว่างประเทศ 75% โดยคิดเป็นสัดส่วนผู้โดยสารจากเส้นทางในและระหว่างประเทศอย่างละ 50% ขณะที่ปี 2562 ก่อนโควิดเคยทำยอดผู้โดยสารรวมได้ 13-14 ล้านคน
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจสายการบินตอนนี้เจอปัญหาขาดแคลนเครื่องบินอย่างมากในช่วงฟื้นตัวสู่ภาวะปกติหลังหมดยุคโควิด-19 เนื่องจากการซ่อมบำรุงล่าช้า ทำให้นำเครื่องบินที่ใช้ได้จริงเข้าประจำการช้าตามไปด้วย
เมื่อปี 62 ก่อนเกิดโควิด ไทยไลอ้อนแอร์มีฝูงบินรวม 35 ลำ และจำเป็นต้องลดขนาดธุรกิจ ในช่วงการระบาดใหญ่ ปัจจุบันสามารถฟื้นฝูงบินกลับมาที่ 20 ลำแล้ว แบ่งเป็น Boeing 737-800 จำนวน 16 ลำ และ Boeing 737-900ER จำนวน 4 ลำ โดยในปี 67 จะรับมอบเครื่องบินเข้ามาอีก 5 ลำ และในปี 68 จะรับมอบอีก 5 ลำเช่นกัน เพื่อนำมาเปิดเส้นทางบินและเพิ่มความถี่เที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ในสิ้นปี 68 จะมีฝูงบินรวม 30 ลำ
"เราจะมุ่งฟื้นฝูงบินและปริมาณที่นั่งโดยสาร ให้บริการที่ฐานปฏิบัติการสนามบินดอนเมืองกลับมาเต็มที่ก่อน ส่วนสนามบินอู่ตะเภาซึ่งก่อนโควิดระบาด ไทยไลอ้อนแอร์เคยวางกลยุทธ์ตั้งเป้าให้เป็นอีกฐานปฏิบัติการบินหลักนั้น ปัจจุบันยังไม่มีแผนกลับไปบูมอู่ตะเภาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเทรนด์ตลาดว่าในปี 68 จะเป็นอย่างไร ต้องประเมินให้ชัดก่อน รวมถึงปัจจัยความพร้อมของการขยายสนามบินอู่ตะเภาในอีอีซี"