นายวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association ? TFPA) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยมีความตื่นตัว และหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องวางแผนการเงินเพิ่มมากขึ้น โดยจากรายงานผลสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2565 จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าคนไทยเพิ่มพูนทักษะความรู้ทางการเงินและมีพฤติกรรมการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 ที่มีค่าเฉลี่ย 67% เพิ่มเป็น 71% และมีการออมเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินเพิ่มขึ้นจาก 67.2% เป็น 71.7%
ขณะเดียวกันการออมเงินเพื่อการเกษียณกลับมีแนวโน้มลดลงจาก 66% เหลือ 61.1% จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปลูกฝังให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของ "การวางแผนการเงิน" ทั้งในส่วนของ "การออมฉุกเฉิน" เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ ควบคู่กับ "การออมเพื่อวัยเกษียณ" เพื่อให้คนไทยมีฐานะการเงินที่มั่นคง สามารถเกษียณได้อย่างมีความสุข ซึ่งจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง
ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่าการวางแผนการเงินมีไว้สำหรับคนมีเงินเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง "การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของทุกคน" ยิ่งคนที่มีเงินจำกัดยิ่งต้องวางแผนเพื่อใช้เงินให้ถูกต้องและคุ้มค่าที่สุด ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นเรื่องเงินและพฤติกรรมทางการเงินของผู้เยี่ยมชมบูธของสมาคมฯ ในงาน SET in the City 2024 จำนวน 340 คน เรื่องที่ทำประชาชนเครียดมากที่สุด 42% คือเรื่องเงิน และสาเหตุอันดับต้นๆ ของความเครียด 56% มาจากการไม่มีเงินออมเพื่อการเกษียณ และ 46% เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้มีความสุขในการดำเนินชีวิตลดลง
ดังนั้น สมาคมฯ จึงต้องเร่งส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินและชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ควรเริ่มต้นวางแผนแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเกษียณในอนาคต โดยมีการเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของบทความและคลิปวิดีโอผ่านโซเชียลมีเดียของสมาคมฯ รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน เช่น กิจกรรม Financial Planning Workshop ฝึกวางแผนการเงินเบื้องต้นกับนักวางแผนการเงิน CFP กิจกรรม Financial Planning Clinic รับคำปรึกษาวางแผนการเงินจากนักวางแผนการเงิน CFP และโครงการ "มนุษย์เงินเดือน มนุษย์เงินดี มีสุข Happy Salary Man" เป็นต้น
นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของนักวางแผนการเงิน CFP จึงต้องเร่งสร้างการรับรู้ว่านักวางแผนการเงิน CFP แตกต่างจากผู้ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพราะนักวางแผนการเงิน CFP คือมืออาชีพที่ให้คำแนะนำโดยมองภาพรวมทุกๆ ด้านของลูกค้า และให้คำแนะนำโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นหลัก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ดีขึ้น และยังช่วยให้ผู้รับคำปรึกษามีความสุขในการใช้ชีวิต
นายวิโรจน์ ยังกล่าวต่อว่า จำนวนนักวางแผนการเงิน CFP ของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ถือว่ายังมีจำนวนน้อยสุดคือ 593 คนจากประชากร 70 ล้านคน ขณะที่ประเทศมาเลเซียมีนักวางแผนการเงิน CFP 2,509 คน จากจำนวนประชากร 33.46 ล้านคน เป็นนโยบายเร่งด่วนที่สมาคมฯ ต้องเร่งผลิตนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT ที่มีคุณภาพ ในฐานะผู้ให้บริการวางแผนการเงินที่มีความเป็นมืออาชีพ น่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการวางแผนการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
พร้อมกับมีแผนในการเข้าพบและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิต และสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจและการยอมรับในวงกว้าง และยกระดับการเทียบเคียงคุณวุฒินักวางแผนการเงิน CFP กับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องที่ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแล
ทั้งนี้ สมาคมนักวางแผนการเงินไทยหรือ TFPA เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งมากว่า 16 ปี และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการมาตรฐานการวางแผนการเงินหรือ FPSB (Financial Planning Standards Board Ltd.) หน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยปี 2566 มีนักวางแผนการเงิน CFP จำนวน 223,770 คน ใน 27 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้เป็นนักวางแผนการเงิน CFP จากประเทศไทย 593 คน
สมาคมฯ มีหน้าที่หลัก 2 ด้านคือ
1. สร้างนักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT ที่มีความรู้ ความสามารถ และจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานสากล เพื่อให้บริการวางแผนการเงินแก่ประชาชนให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินและมีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว และ
2. ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินและเริ่มลงมือวางแผนการเงินอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นและมีความมั่นคงทางการเงิน