นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค แล้ว ซึ่งคาดว่า ในวันที่ 20 พ.ค.นี้จะเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป โดยจะเสนอแยกงานโยธามาดำเนินการประกวดราคาก่อน
ส่วนเรื่องการบริหารจัดการเดินรถนั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หากพบว่าต้องดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก็จะให้ดำเนินการตามขั้นตอนโดยไม่หลีกเลี่ยง เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในอนาคต และทำให้โครงการล่าช้า
โดยวันนี้ผู้แทนธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค) ได้หารือร่วมกับตนเอง เนื่องจากเจบิคได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน และแสดงความสนใจสนับสนุนเงินกู้เพื่อนำมาดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งตนเองขอให้เจบิคช่วยปรับลดขั้นตอนการประกวดราคา โดยเฉพาะกรณีการกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการยื่นข้อเสนอที่ 90 วัน ให้เหลืออยู่ที่ประมาณ 45-60 วัน รวมทั้งขอร้องให้เจบิคช่วยลดขั้นตอนการพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อช่วยเร่งรัดการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนั้น เจบิคยังสนใจข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในไทย และให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการประกอบรถไฟฟ้าให้กับคนไทย โดยเจบิคพร้อมสนับสนุนเงินกู้ให้กับบริษัทเอกชนที่จะเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าในไทย แต่อาจต้องมีการร่วมทุนกับญี่ปุ่น เพราะที่ผ่านมาเจบิคมีข้อกำหนดไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับเอกชน
นายสันติ ยังกล่าวอีกว่า เจบิคได้ยื่นข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้า เนื่องจากที่ผ่านมามีประสบการณ์การให้กู้เงินในโครงการรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้า คือ ให้รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างราง สถานี และจัดซื้อรถไฟฟ้า และให้เอกชนเช่ารถจากรัฐมาเดินรถ รายได้ขึ้นกับผลประกอบการเดินรถ และมีการกำหนดมาตรการให้รางวัล-ลงโทษ เพื่อให้ผู้ได้รับสัมปทานเดินรถพัฒนาประสิทธิภาพเดินรถดีขึ้น
"รูปแบบที่เจบิคเสนอตรงกับแนวทางของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่เพื่อความเหมาะสมของการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการเดินรถว่าจะใช้วิธีการจ้างเดินรถ หรือให้สัมปทานเดินรถ และรูปแบบใดจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ผมสั่งให้ รฟม.(การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย)ไปศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาครัฐแล้ว" นายสันติ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจาก สศช. กล่าวว่า งบประมาณดำเนินโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินรวมงานโยธา ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และงานระบบรถไฟฟ้า เป็นจำนวนเงินประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงหัวลำโพง-บางแคประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยงานโยธามีมูลค่ารวมประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นช่วงหัวลำโพง-บางแค ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เบื้อต้นประเมินว่า รฟม.จะต้องขอขยายกรอบวงเงินลงทุนในโครงการดังกล่าวอีกครั้ง เพราะปัจจุบันราคาวัสดุก่อสร้าง และราคาน้ำมันปรับราคาเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่การคำนวณมูลค่าการลงทุนคิดตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าการขยายกรอบวงเงินคงไม่มากเท่ากับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ซึ่งมีการปรับเพิ่มวงเงินประมาณ 15%
--อินโฟเควสท์ โดย คคฦ/เสาวลักษณ์/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--