SKE ปรับใหญ่โครงสร้างธุรกิจตัด NGV-รุกบริหารจัดการบ่อขยะหวังเทิร์นอะราวด์พลิกกำไรในปี 68

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 28, 2024 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SKE ปรับใหญ่โครงสร้างธุรกิจตัด NGV-รุกบริหารจัดการบ่อขยะหวังเทิร์นอะราวด์พลิกกำไรในปี 68

นายจักรพงส์ สุเมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สากล เอนเนอยี (SKE) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ โดยหวังว่าจะทำให้ผลประกอบการเทิร์นอะราวด์พลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปี 68 และรายได้จะเติบโตดีกว่าปีนี้ที่คาดทำได้ 520 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติยกเลิกสัญญาจ้างอัดก๊าซธรรมชาติพร้อมตั้งสถานีบริการก๊าซธรรมชาติหลักโดยเอกชน (เชียงรากน้อย) จังหวัดปทุมธานี และสัญญาที่เกี่ยวข้อง ระหว่างบริษัทฯ กับ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งมีระยะเวลาตามสัญญาเหลืออยู่ประมาณ 4 ปี 6 เดือน (ครบกำหนดสัญญาวันที่ 16 มี.ค.72) โดยบริษัทตกลงรับข้อเสนอของ ปตท.ที่จะจ่ายค่าตอบแทนการลงทุน (AP) ตามระยะเวลาคงเหลือของสัญญา เป็นจำนวนเงิน 52 ล้านบาท

การตัดสินใจในครั้งนี้เกิดจากปริมาณการอัดก๊าซ NGV ของสถานีดังกล่าว ลดลงต่ำกว่าปริมาณขั้นต่ำในทุกๆ เดือน ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายไม่สอดคล้องกับรายได้ค่าจ้างอัดก๊าซ NGV และเมื่อพิจารณารวมกับความต้องการใช้ก๊าซ NGV ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลกระทบโดยตรงต่อผู้ให้บริการรับจ้างอัดก๊าซของเอกชน ดังนั้นทาง SKE Group จึงตกลงยอมรับข้อเสนอและมีมติยกเลิกสัญญาดังกล่าว

"เงินชดเชย 52 ล้านบาทจากการยกเลิกสัญญากับ PTT คาดว่าจะทยอยรับรู้เข้ามาเป็นกำไรตั้งแต่ไตรมาส 1/68 ถึงไตรมาส 2/68 ซึ่งหลังจากได้รับค่า AP บริษัทฯ จะนำเงินมาขยายธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ทดแทน หรือเอาไว้ใช้ชำระคืนหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระ โดย SKE จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระในเดือนก.พ.68 มูลค่ารวม 300 ล้านบาท"

นายจักรพงส์ กล่าวว่า โครงสร้างธุรกิจใหม่ในปี 68 จะไม่มีธุรกิจให้บริการบรรจุก๊าซ NGV แล้ว แต่โครงสร้างรายได้ใหม่ จะประกอบด้วย ธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่กระทิง คิดเป็นสัดส่วน 45% , ธุรกิจบริหารจัดการของเสียหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย โดยการคัดแยกและผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF ของบริษัท เอ็น15เทคโนโลยี จำกัด (N15 Technology) 45% และที่เหลืออีก 10% เป็นธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท แวนต้า แคปปิตอล จำกัด

สำหรับธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวลฯ บริษัทฯ ยังคงจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตามปกติ และมีแผนเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก ส่วนธุรกิจ RDF จะมุ่งขยายสู่ธุรกิจต้นน้ำ คือการประมูลงานบริหารจัดการบ่อขยะ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่าจะมีรายได้จากการรับจำกัดขยะราว 100-150 ล้านบาท/ปี ช่วยชดเชยกับรายได้ธุรกิจ NGV ที่จะหายไป

นอกจากนี้ ในปีหน้าบริษัทวางงบลงทุนราว 20 ล้านบาท เตรียมสร้างอาคารจัดเก็บเชื้อเพลิง RDF เพิ่มเติม เพื่อบริหารจัดการไม่ให้ RDF เกิดปัญหาในช่วงฤดูฝนได้อีก

ด้านธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับซื้อขายหลักทรัพย์ของ แวนต้า แคปปิตอล คาดว่าช่วงที่เหลือของปีนี้จะเริ่มเห็นการทำกำไรได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ