นางสาวแคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายสายธุรกิจใหม่ เพื่อสร้าง New S-Curve โดยร่วมทุนกับนายแพทย์วิวรรธน์ ชินพิลาศ ดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ IVF (In-vitro Fertilization) และจะขยายไปสู่ธุรกิจเสริมความงาม, Wellness และธุรกิจด้านเภสัชกรรม เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ของการมีสุขภาพดีแบบองค์รวม
โดยบริษัท เวิลด์ โซล่าร์ จำกัด (World Solar) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ TSE จะซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด (100%) ของบริษัท บางกอก อินเฟอร์ทิลิตี้ เซ็นเตอร์ จำกัด (BIC) ซึ่งประกอบกิจการสถานพยาบาล ทางด้านเวชกรรมสาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา, การรักษาผู้มีบุตรยาก (คลินิก บางกอก ไอวีเอฟ เซ็นเตอร์) คาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 4/2567 ซึ่งหลังเข้าทำธุรกรรม World Solar จะเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท บีทีเอช จำกัด และบริษัทฯจะถือหุ้นในสัดส่วน 51%
กลุ่มธุรกิจในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แม้ว่าสัญญารายได้เงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จะทยอยหมดลงในเดือนมิถุนายน 2567 แต่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อื่นๆ และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล (Biomass) ของบริษัทฯ ยังสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯมีโครงการปรับเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลรุ่นเก่าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อผลผลิตกระแสไฟที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถชดเชยรายได้บางส่วนจากการสิ้นสุดสัญญา
อีกทั้งบริษัทฯ ยังมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง จากการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน และชำระหุ้นกู้คืนก่อนครบกำหนดกว่า 1,175 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของเงินต้นหุ้นกู้คงค้างทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ย 5.10% ในเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับผลการดำเนินงานในงวด 6 เดือนแรกปี 2567 (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567) บริษัทฯมีรายได้รวม 667 ล้านบาท โดยมี EBITDA อยู่ที่ 510 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 184 ล้านบาท และในไตรมาสที่ 2/2567 บริษัทฯ ยังมีกระแสเงินสดปลายงวด (Cash Ending) อีกกว่าพันล้านบาท สร้างความเชื่อมั่นต่อสถานะทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มบริษัทฯ
ปัจจุบัน TSE มีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมด 41 โครงการ กำลังการผลิตเสนอขายรวม 241.86 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 34 โครงการ และโครงการที่ยังไม่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) อีก 7 โครงการ
บริษัทยังมีความพร้อมเข้าประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งเฟสที่ 2 และเฟสที่ 3 หลังจากปี 2566 ชนะประมูลงานโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเฟสที่ 1 เป็นจำนวน 88.66 เมกะวัตต์เสนอขาย พร้อมรุกธุรกิจ Private PPA (Private Power Purchase Agreement) หรือข้อตกลงการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งรูปแบบโซลาร์บนหลังคาโรงงาน (Solar Rooftop) โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Solar Floating) โซลาร์ฟาร์มแบบติดตั้งบนพื้นดิน (Ground-Mounted Solar) หรือโซลาร์ฟาร์มบนลานจอดรถ (Solar Carport) ของผู้ประกอบการธุรกิจแบบครบวงจร และการทำ M&A (Mergers and Acquisitions) เพื่อเสริมความแข็งแกร่งกำลังการผลิต รวมถึงแผนจับมือกับพันธมิตรในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในประเทศไทย