นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ฯ (Filing) ของ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ TPCH ถือหุ้น 50% เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในไตรมาส 4/67 เพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย (SPNS) มีกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ นากลาง (SPNK) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ ได้เซ็น PPA เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 3/67 พร้อมกันนี้ บริษัทกำลังพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เพิ่มประมาณ 4 โครงการ ประกอบด้วย SP4-SP7 เป็นโครงการพลังงานขยะชุมชนในรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer)
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP, PTG มีกำลังการผลิตติดตั้ง 80.7 เมกะวัตต์ ยังสามารถเดินเครื่องได้ตามปกติ พร้อมมุ่งเน้นการพัฒนา ควบคุมบริหารเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่า แผนการลงทุน พัฒนาโครงการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะช่วยผลักดันผลงานให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบัน TPCH มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 110 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 80.7 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 29.3 เมกะวัตต์ โดยในปี 2569 ยังคงเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล และโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ รวมถึงโครงการในต่างประเทศ เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 350 เมกะวัตต์
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร TPCH เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ โดยพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว ซึ่งเข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จำกัด (MKP) ในสัดส่วน 40% มูลค่า 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว
และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลา 25 ปี นับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ปัจจุบันได้มีการปรับพื้นที่เพื่อเตรียมก่อสร้าง และได้เริ่มงานด้านโครงสร้างและรั้วกั้นโซนติดตั้งสถานีไฟฟ้า (Substation) บางส่วนแล้ว รวมถึงได้เซ็นสัญญางานวิศวกรรม งานจัดซื้อ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction (EPC Contract) กับผู้รับเหมาจากประเทศจีน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างอย่างเป็นทางการได้ในช่วงไตรมาส 1/2568
ส่วนการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต โดยตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตของโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ประมาณ 180-200 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานลม ประมาณ 50-100 เมกะวัตต์
"การลงทุนและพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนใน สปป.ลาว มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ มีการปรับพื้นที่เพื่อรอการก่อสร้าง และได้เริ่มก่อสร้างในส่วนงานโครงสร้างแล้ว นอกจากนี้ เราได้จัดทำประมาณการของโครงการ พบว่า ปัจจุบันราคาของแผงโซลาร์เซลล์มีราคาลดลง เนื่องจากมีผู้ขายในตลาดมากขึ้น และมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบริษัทฯ ในแง่ของการช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างและการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น ทำให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น และยังมีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ" นางกนกทิพย์ กล่าว