มองมุมต่าง: 4 วิธีเลี่ยงเกณฑ์ UPTICK ป้องกันความเสี่ยงช่วงตลาดผันผวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 4, 2024 11:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การมีเกณฑ์ Uptick rule ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าวอลุ่มการขายชอร์ตมีปริมาณลดลงอย่างมาก แต่ความผันผวนจากการลงทุนในตลาดหุ้นก็ยังคงมีอยู่

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดความผันผวน คือ การลดลงของ "สภาพคล่อง" ทำให้ตลาดค่อนข้างมีแรงเหวี่ยงที่สามารถจะเทน้ำหนักไปทางใดทางหนึ่ง เมื่อมี "แรงซื้อ" หรือ "แรงขาย" เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ช่องว่างของความผันผวนตรงนี้อาจทำให้ "ผู้ลงทุน" ที่เคยใช้การ Short sell ในการป้องกันความเสี่ยง (Hedging) หรือ เพื่อชดเชยความเสี่ยงของความผันผวนที่เกิดขึ้น แม้กระทั่งการทำกำไรตอนตลาดหุ้นขาลง ทำให้โอกาสที่จะปิดความเสี่ยง หรือ ทำกำไรตอนขาลง ยากกว่าช่วงปกติ

แม้ความรู้ที่ว่าการ Short sell หรือ การขายชอร์ตหุ้น จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของหุ้นในตลาด และใช้ป้องกันการปั่นราคาหุ้น โดยสามารถเป็นหนึ่งในกระบวนการค้นหาราคาหุ้น (Price Discovery) ที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการดันราคาที่เกินพื้นฐาน หรือ เกิดฟองสบู่ของราคาหุ้นตัวนั้นๆ

ในเมื่อเครื่องมือที่ใช้สำหรับการทำ hedging ที่สำคัญอย่าง การยืมหุ้นมาขายชอร์ต ถูกกำกับด้วยเกณฑ์ uptick ที่ถูกกำหนดว่าจะต้องตั้งรอที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน (last trade) 1 ช่อง ทำให้การ hedge ความเสี่ยงของพอร์ตโดยการยืมหุ้นมาชอร์ตเพื่อตั้งรอ ก็อาจจะทำได้ยากขึ้น แล้วเราพอจะมีทางเลือกอื่นไหนบ้างที่จะสามารถหยิบมาใช้แทนได้

1. การขายแบบ Long sell ซึ่งผู้ขายต้องมีหุ้นอยู่ในพอร์ต เป็นการขายเพื่อลด position ในพอร์ต สามารถโยนซ้าย (Bid) ได้เลย เพราะไม่ต้องทำตามเกณฑ์ uptick วิธีนี้อาจจะเป็นการบริหารความเสี่ยงของพอร์ตที่ง่ายที่สุด แต่แน่นอน ถ้าผิดทาง หรือ หุ้นที่ขายไปแล้วไม่ลงตามที่คิดไว้ ก็อาจจะเสียจังหวะ หรือ ตกรถ และต้องกลับมาซื้อในราคาที่สูงกว่าที่ขายไป

2. ขายชอร์ตผ่าน SET50 ฟิวเจอร์ส อันนี้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการขายหุ้นที่ถือออกมา แต่อยากป้องกันความเสี่ยงและความผันผวนระยะสั้น การชอร์ต SET50 ฟิวเจอร์ส สามารถเพิ่ม exposure ทางด้านขาลงให้พอร์ตได้ เหมาะสำหรับพอร์ตใหญ่ ที่มีหุ้นบิ๊กแคปหลายๆ ตัว และวิ่งไปในทิศทางเดียวกับ SET50 Index

การชอร์ตโดยใช้ SET50 ฟิวเจอร์ส ก็ถือเป็นการ hedging ที่ดี มีสภาพคล่อง และมีต้นทุนที่ต่ำ ทั้งค่าคอมมิชชั่น และ bid-offer ที่มี spread แคบมาก

3. การซื้อ DW Put อันนี้เป็นเครื่องมือที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง เพราะมีเรื่อง Gearing และ Time decay เข้ามาเกี่ยวข้อง เครื่องมือนี้ เหมาะสำหรับ hedging ระยะสั้นเท่านั้น ผู้ลงทุนสามารถเคาะซื้อ put option ในราคา best offer ได้เลย โดยผู้ออก (โบรกเกอร์) จะเป็นคนทำ hedging หุ้นแม่ในกระดานเอง

หากอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ผู้ออกสามารถชอร์ตหุ้นตัวแม่แทนเราได้เลย โดยไม่ต้องไปรอ สำหรับการทำ hedging ผู้ออกสามารถเคาะขายชอร์ตที่ราคา last trade ได้เลย โดยโต๊ะที่ออก DW จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องใช้ Upick ทำให้ราคา DW ที่วางขาย เป็นราคาที่ไม่ได้ถูกกดโดยข้อจำกัดของเกณฑ์ uptick

4. ชอร์ต Single Stock Futures หุ้นรายตัว ผู้ลงทุนสามารถโยนซ้าย (Bid) ขายชอร์ต SSF ในกระดานได้เลย ไม่ต้องตั้งรอเหมือนการยืมหุ้น SBL ส่วนใหญ่จะมีผู้ดูแลสภาพคล่องอยู่ในกระดาน แม้สภาพคล่องอาจจะไม่มากนัก แต่ก็อาจจะเพียงพอสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่ขนาดของธุรกรรมไม่ได้ใหญ่มากนัก

การโยนซ้ายขายชอร์ตผ่าน SSF ในกระดาน เมื่อได้รับการจับคู่กับผู้สร้างสภาพคล่อง (Market Maker:MM) สามารถทำ hedging ต่อในหุ้นแม่โดยการขายชอร์ตที่ราคา last trade ได้เลย ไม่ต้องทำ uptick เหมือนธุรกรรมอื่นๆ

ทั้งหมดนี้ เป็นวิธีการเลี่ยงเกณฑ์ Uptick rule ของทางการ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถป้องกันความเสี่ยง และ ทำกำไรช่วงตลาดขาลง หรือมีความผันผวนสูงได้อย่างสบายใจ

ธิติ ภัทรยลรดี


แท็ก ตลาดหุ้น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ