หากสามารถประมูลบริการภาคพื้นรายที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ คาดว่าจะใช้เงินลทุนระยะแรกราว 1-2 พันล้านบาท และบริษัทจะสามารถเพิ่มรายได้ขึ้นเกิน 1 เท่าตัว เป็น 6 พันล้านบาท จากงบปี 67 (สิ้นสุด ก.ย.) คาดจะมีรายได้ 3 พันล้านบาท สำหรับประมาณการรายได้ในงบปี 68 นายสิริวัฒน์ คาดว่าจะเติบโตเป็น 3.8-3.9 พันล้านบาท โดยรายได้หลักจะมาจากการให้บริการภาคพื้นและคาร์โก้ 3,400 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากท่าอากาศยานภูเก็ตมีสัดส่วน 60-70% นอกจากนี้ รายได้จากให้บริการทำความสะอาดทั้ง 6 ท่าอากาศยานของ AOT จำนวน 500 ล้านบาท
นอกจากนี้ AOTGA ได้เปิดตัว ศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า หรือ Multimodal Transportation Center (ศูนย์มัลติโมดอล) ณ เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (โซน 3) จากที่กรมศุลกากรได้อนุญาตให้ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) (AOT) เป็นผู้จัดตั้งศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า และ AOT ได้มอบหมายให้ AOTGA เป็นผู้ดำเนินการศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า นั้น นับเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน ชูจุดเด่น ผนวกรูปแบบการขนส่งทุกประเภท ทั้งทางบก ราง น้ำ อากาศ การรวมตู้สินค้า และการเก็บรักษา พร้อมดำเนินพิธีการทางศุลกากรเบ็ดเสร็จในจุดเดียว สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ หนุนการเติบโตของ E-Commerce ยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอย่างแท้จริง
AOTGA ใช้งบลงทุนกว่า 150 ล้านบาทในศูนย์มัลติโมดอล บนเนื้อที่กว่า 4,872 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ให้บริการ 2 ส่วน ได้แก่ 1. Fixed Area พื้นที่สำหรับผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชนที่เป็นผู้ร่วมประกอบกิจการศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า ขนาด 2,368 ตารางเมตร ปัจจุบันมี 3 บริษัท ได้แก่ เฟดเอ็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (FedEx) , บริษัท ดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (ประเทศไทย)จำกัด (DHL) บริษัท เอเชีย กราวด์ เซอร์วิส จำกัด (AGS) โดยจะสามารถรองรับปริมาณการขนส่งได้ราว 1 แสนตัน/ปี
และ 2. Public Area พื้นที่ที่ทาง AOTGA ให้บริการเอง ขนาด 1,184 ตารางเมตร ที่จะรองรับปริมาณการขนส่งได้ 5 หมื่นตัน/ปี โดย AOTGA คาดว่าจะมีรายได้จากการบริหารพื้นที่นี้ราว 80 ล้านบาทในงบปี 68 และคาดว่าจะเติบโตได้ปีละ 10-15% ซึ่งขณะนี้ AOTGA มีลูกค้าแล้ว 10 ราย
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าให้บริการกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนส่งทั้งในและต่างประเทศที่เป็นตัวแทนในการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (Freight Forwarder) และ ผู้ประกอบการของเร่งด่วน (Express Consignment) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นจากการมุ่งเน้นใช้ประเทศไทยเป็น HUB ในกลุ่มประเทศ CLMV และโฟกัสไปยังกลุ่มสินค้า E-Commerce จากปัจจัยเกื้อหนุนด้านการบิน และเครือข่ายการบินที่เชื่อมโยงสู่ทวีปอื่นๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรป นอกจากนี้ AOTGA ยังได้นำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาให้บริการในศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า อาทิ ระบบติดตามทางศุลกากรจากด่านศุลกากรมายังศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้าด้วยระบบกุญแจอิเล็กทรอนิกส์ (E-lock System) และระบบควบคุมสินค้าคงคลัง (E-Inventory)
AOTGA เป็นผู้ให้บริการภาคพื้นท่าอากาศยาน และบริการคลังสินค้าในท่าอากาศยาน (Cargo Terminal) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ AOT (ถือหุ้น 49%)