บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุ จากข่าวสภาทนายความฯ และตัวแทนชาวบ้าน จาก จ.สมุทรสงคราม ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายรวม 2,400 ล้านบาทกับบมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กรณีแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่ม เดือน พ.ย.
ขั้นตอนในการดำเนินคดี จะเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการ ขาดรายได้ในอาชีพประมงเพาะเลี้ยงและประมงพื้นบ้าน และจากการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งมีคำขอบังคับให้บริษัท CPF แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับสู่สภาพเดิม ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ตามหลัก "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย"
กรณีเลวร้ายจะกระทบต่อราคาหุ้น CPF 0.28 บาทต่อหุ้น แต่คดีกว่าจะสรุปได้ต้องใช้ระยะเวลา ระยะสั้นอาจมีผลกระทบต่อราคาบ้าง แต่ยังคงมองบวก จากผลประกอบการปีนี้ที่น่าจะออกมาดี
อย่างไรก็ตาม ทาง CPF ยืนยันว่าไม่ใช่ต้นเหคตุของการแพร่ระบาด โดยขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เริ่มการริเริ่มแนวคิดการศึกษาตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งยุติความคิดที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้เมื่อต้นปี 2554 พร้อมเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ก่อให้เกิดการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย และนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมได้ในที่สุด
CPF ระบุว่า ตามที่ปรากฎเป็นข่าวในสื่อว่ากลุ่มชาวประมง จังหวัดสมุทรสงครามและสภาทนายความ ได้ยื่นฟ้องทางแพ่งบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหายชดใช้การนำเข้าปลาหมอคางดำนั้น บริษัทได้ตั้งคณะทำงานเพื่อสอบข้อเท็จจริง ตั้งแต่เริ่มการริเริ่มแนวคิดการศึกษาตั้งแต่ปี 2549 จนกระทั่งยุติความคิดที่จะทำการวิจัยในเรื่องนี้เมื่อต้นปี 2554 ยืนยันว่าไม่ใช่ต้นเหตุของการระบาด อย่างไรก็ตามบริษัทพร้อมเข้าสู่กระบวนการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่ถูกกล่าวหาและเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่ก่อให้เกิดการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย และนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมได้ในที่สุด
แม้บริษัทจะมั่นใจว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ แต่รับทราบดีว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้เข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้ดำเนินงานเชิงรุก 5 โครงการ ประกอบด้วย
1.สนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจำนวน 2,000,000 กก.นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา รับซื้อไปแล้วกว่า 1,100,000 กก.และยังคงรับซื้อต่อเนื่อง
2.สนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่า จำนวน 200,000ตัว โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการส่งมอบปลากะพงขาว จำนวน 70,000 ตัว ให้กับหน่วยงานภาครัฐและชุมชนในหลายจังหวัด
3.สนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน ในทุกพื้นที่ ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาสนับสนุนกิจกรรมไปแล้ว 30 ครั้งใน 14 จังหวัด จับปลาหมอคางได้มากกว่า 25,000 กิโลกรัม
4.การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา
และ 5.ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ สถาบันการศึกษาทั้งใน และต่างประเทศ