HILITE: กรุงศรี มอง SET สดใสจ่อรับเม็ดเงินก้อนใหญ่ 1.2-1.7 แสนล้านให้เป้าสิ้นปี 1,540 จุด คัดหุ้นเด่น 3 กลุ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 6, 2024 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปี 67 ในทางบวก ประเมินเม็ดเงินใหม่ที่กำลังเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยหลักๆ 2 ส่วน ส่วนใหญ่น่าจะเข้ามาในช่วง Q4/67 สูงถึงราว 1.2-1.7 แสนล้านบาท (กองทุนวายุภักษ์ 1.0-1.5 แสนล้านบาท ผสาน เม็ดเงินกองทุน ThaiESG มีผล 3 เดือน เดือนละ 6-7 พันล้านบาท) ต่อยอดด้วยเม็ดเงิน ThaiESG เต็มปีในปี 68 อีก 7.8 หมื่นล้านบาท จะหนุน SET เดินหน้าสู่เป้าหมายสิ้นปี 67 ประเมินที่ 1,540 จุด (PER2024 17.3X)

กลยุทธ์แนะนำลงทุนในหุ้น 3 กลุ่ม 1.หุ้นที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น, อยู่ในกองทุนวายุภักษ์ 1 และมีแนวโน้มเติบโตดีในช่วง 67-68 ได้แก่ AOT, PTT, KTB

2.หุ้นที่อยู่ในกองทุนวายุภักษ์ 1 และซื้อขายในระดับ Valuation Zone รวมถึงมีแนวโน้มการเติบโตดี ได้แก่ CPALL, SCC, MINT, CRC, HMPRO, SCC

3.หุ้นที่มีน้ำหนักใน SETESG สูงและมีแนวโน้มการเติบโตดี อยู่ใน Theme Data Center ได้แก่ ADVANC, GULF มีโอกาสเป็นเป้าหมาย

บล.กรุงศรี ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยวานนี้ SET ก้าวข้าม EMA 200วัน ที่ระดับ 1,373 จุดแล้ว เชื่อมั่นโอกาสเดินหน้าสู่เป้าหมายสิ้นปี 67 ที่ 1,480-1,540 จุด (PER2024 17.3X) หนุนจากการเมืองภายในชัด รวมทั้งเม็ดเงินกองทุน ThaiESG เกณฑ์ใหม่ และกองทุนวายุภักษ์

จากเหตุการณ์ในอดีต SET Index ปี 46 คือ ปีที่กองทุนวายุภักษ์ 1 เริ่มขึ้น : 1 ก.ค.46 เป็นจุดเริ่มต้นของ Domestic Long Term Fund ที่ค่อยๆ แข็งแรงขึ้นหลังพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งปีค.ศ.1997 และหลังจากนั้นราวปี 47 กองทุน LTF ก็ถือกำเนิดขึ้น

ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยในปี 46 จากต้นปีที่ 351.52 จุด +31.38% ไปที่ 461.82 จุด ก่อนวันแรกของกองทุนวายุภักษ์ และปรับขึ้นอีก 69.64 ไปสูงสุด 783.44 จุด ในวันที่ 9 ม.ค.47 หรือขึ้นจากต้นปี 46 ถึง 123%

เปรียบเทียบเศรษฐกิจและปัจจัยภายในปี 46-47 VS. ปี 67-68

1.) เศรษฐกิจภายในประเทศกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวคล้ายๆ กัน แรงขับเคลื่อนมาจากนโยบายภาครัฐและความเชื่อมั่นว่า GDP Growth ปี 67 จะขยายตัว 2.4%y-y และปี 68 ขยายตัว 2.8-3.2% คิดเป็น % Chg เพิ่มราว 50% จากฐานปี 65-66 ที่ 2.5-1.9% เช่นเดียวกับปี 46-47 ที่ GDP ฟื้นตัว 7.2-6.3% จากฐานปี 44-45 ที่ 4.5-6.1%y-y

2) ต่างชาติขายหุ้นไปมาก : ก่อนปี 46 นักลงทุนต่างชาติเป็นภาพซื้อสลับขายในตลาดหุ้นไทย แต่ในช่วงปี 10 พ.ค.42- 21 ม.ค.45 ต่างชาติขายหุ้นไทย -5.12 หมื่นล้านบาท ราว -3.3% ของมูลค่าตลาด และหลังการออกกองทุนวายุภักษ์ 1 และมีกอง LTF ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิต่อเนื่อง 4 ปี ติด รวมกว่า 2.62 แสนล้านบาท

ขณะที่ภาพปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมาตลอดตั้งแต่ปี 60 รวมกว่า -7.88 แสนล้านบาท (ซื้อปีเดียว ปี 65 ราว 2.2 แสนล้านบาท) ราว -4.7%ของมูลค่าตลาด ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ขายออกมากเกินไป เป็นโอกาสของนักลงทุนภายในประเทศระยายาว และมีโอกาสเห็นต่างชาติกลับสถานะตามรอบใหญ่ได้อีกครั้ง โดยเฉพาะการที่ MSCI Thailand มีน้ำหนักใน MSCI EM เหลือเพียง 1.44% จากต้นปี 61 ราว 2.4%+

3) Domestic Long term Fund : เริ่มต้นครั้งแรกจากวายุภักษ์ปี 46 ราว 1 แสนล้านบาท และในปี 47 มี LTF เกิดขึ้นกลางปี ยอดรวมซื้อสุทธิปีแรกเพียง 5.4 พันล้านบาท หลังจากนั้นเร่งขึ้นต่อเนื่อง จนปี 50 มียอดซื้อสุทธิที่ราว 2.3 หมื่นล้านบาท และปี 60-62 ซื้อสุทธิเฉลี่ย 6.8 หมื่นล้านบาท การเติบโตที่เร่งขึ้นดังกล่าวเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อตลาดหุ้นไทยเรื่อยมา

ขณะที่การกลับมาของกองทุน TESG ซึ่งถือเป็น LTF รูปแบบใหม่ (หุ้นที่อยู่ใน Universe การลงทุนคล้ายๆ กัน เพียงแค่อิง ESG มากขึ้น และให้การลดหย่อนสูงสุดได้มากกว่า LTF สำหรับบางฐานภาษี) เชื่อว่าจะทำให้เม็ดเงินจากฝั่งกองทุนเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยเร่งขึ้นต่อเนื่องได้ช่วงถัดไป เป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยวงจรใหม่

ขณะที่เศรษฐกิจโลกและทิศทางอัตราดอกเบี้ยปี 46-47 VS. ปี 67-68 มีจุดต่างคือ ความไม่แน่นอนของวงจรเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ

1) World GDP Growth ปี 67-68 อิง IMF คาด 3.1%y-yเท่ากัน ซึ่งภาพเศรษฐกิจโลก คือ ตัวแปรหลักที่มีความต่างจากปัจุบัน เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีหน้าทรงตัว หรืออาจชะลอลง เทียบกับในปี 46 ที่ World GDP โต 3.2% และเร่งขึ้นอีกในปี 47 โต 4.5% จากเศรษฐกิจโลกขาขึ้นช่วงนั้นอย่างพร้อมเพียงกัน

2) ทิศทางอัตราดอกเบี้ยปี 67-68 เริ่มกลับมาเป็นขาลง อิงสหรัฐคาดปีนี้จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย ส่วนไทยมีโอกาสลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในสิ้นปี เข้าสู่ Cycle ขาลง เทียบกับปี 46 ซึ่งสหรัฐเป็น Cycle ของดอกเบี้ยขาลงแต่เป็นช่วงปลาย คือ เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยฯตั้งแต่ปลายปี 43 จนถึงช่วงกลางปี 46 และเริ่มหยุดการลดอัตราดอกเบี้ยและช่วงปี 47 คงอัตราดอกเบี้ยจนถึงกลางปี ส่วนไทยดอกเบี้ยนโยบายเริ่มเป็นขาลงคล้ายปัจจุบัน คือต้นปี 46 ดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.75% และเริ่มปรับลงรวม 50 bps ในปีนั้นมาอยู่ที่ 1.25%

"KSS ประเมินภาพการลงทุนภายในปัจจุบันค่อนข้างจะคล้ายกับในอดีต ผสานการเมืองภายในเดินหน้า ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยช่วงที่เหลือของปีนี้ในทางบวก" บล.กรุงศรี ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ