กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ที่เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไปเพื่อเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุนแก่ผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บล.ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง พร้อมด้วย นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย และ นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เตรียมร่วมงานโรดโชว์ให้ข้อมูลแก่นักลงทุนรายย่อยในวันนี้เวลา 14.00-15.30 น.
- ประเภทกองทุนรวม/กลุ่มกองทุนรวม
- กองทุนรวมผสม, กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมอื่น ภายใต้ บลจ.เดียวกัน
- กองทุนรวมที่ลงทุนแบบมีความเสี่ยง ทั้งในและต่างประเทศ, กองทุนรวมวายุภักษ์
- กลุ่ม Miscellaneous
- นโยบายและกลุยุทธ์การลงทุน
- กองทุนมีนโยบายการลงทุนในลักษณะการลงทุนเชิงรุก และการลงทุนเชิงรับ แบ่งเป็น 3 ประเภท
1.หลักทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อการดำเนินงาน หรือรกษาสภาพคล่องของกองทุน
2.หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ
3.หลักทรัพย์อื่น เช่น Unlisted Securities ตราสารหนี้ Non-Investment Grade และ/หรือ Unrated Securities ได้ไม่เกิน 10% ของ NAV รวมถึงอาจลงทุนในกองทุนรวมอื่น ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกันได้ ในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของ NAV
- กองทุนรวมอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุน
- กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุน มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีชี้วัด
- สัดส่วนประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ส.ค.67)
1. หุ้นสามัญ 88.36%
2. พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 7.01%
3. ตั๋วเงินคลัง 1.48%
4. เงินฝากธนาคาร 1.07%
5. หุ้นกู้ 0.62%
6. สินทรัพย์และหนี้สินอื่นๆ 0.45%
7. หน่วยลงทุนตราสารทุน 0.32%
8. พันธบัตรรัฐบาล 0.27%
9. หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 0.18%
10. ตั๋วแลกเงิน 0.16%
11. หุ้นบุริมสิทธิ 0.05%
12. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น 0.02%
- สินทรัพย์เดิมที่ลงทุน 5 อันดับแรก
1. บมจ. ปตท 35.07%
2. บมจ. เอสซีบี เอกซ์ 25.03%
3. ธนาคารทหารไทยธนชาต 5.54%
4. ธนาคารกรุงไทย 3.36%
5. บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น 3.03%
- ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. คือ ผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นนักลงทุนทั่วไป เช่น นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนภาครัฐ สหกรณ์ มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ เป็นต้น โดยบริษัทจัดการจะนำหน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผู้ลงทุนสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้ทุกวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ
- ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. คือ กระทรวงการคลัง และอาจประกอบด้วยนักลงทุนภาครัฐ โดยไม่จำกัดสัดส่วนการลงทุนของกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ นักลงทุนภาครัฐ หมายถึงรัฐวิสาหกิจนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะที่มีวัตถุประสงค์ในการลงทุน เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม เป็นต้น กองทุนที่จัดตั้งตามความจำเป็นของหน่วยงานรัฐ หรือตามนโยบายของรัฐบาล โดยเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวิธีการประมาณ แล้วแต่กรณี
- นโยบายการลงทุน และเกณฑ์พิจารณาการเข้าลงทุน
กองทุนรวมนี้ มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ รวมถึงมีการบริหารแบบเชิงรุก และเชิงรับ ซึ่งจะมุ่งเน้นลงทุนในตราสารทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลัก โดยเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนดี มั่นคงในระยะยาว และมีความยั่งยืนในกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยง และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลได้แก่
- ตราสารทุนที่มีรายชื่ออยู่ใน SET100 โดยอาจพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่ได้รับคะแนน "หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings" สูงสุด 3 อันดับแรก เช่น ที่ระดับ A ขึ้นไป
- กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ตราสารทุนที่มีรายชื่อยู่ใน SET100 อื่น ที่มีอัตราผลตอบแทนสูง หรือมีแนวโน้มการเติบโตสูง ทั้งนี้ ต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี
- ตราสารทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอก SET100 ที่ผลประกอบการมีแนวโน้มที่ดี โดยอาจพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่ได้รับคะแนน "หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings" สูงสุด 2 อันดับแรก เช่น ที่ระดับ AA ขึ้นไป เป็นต้น
- การคำนวณอัตราผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. และผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก.
- การคำนวณอัตราผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก.
บริษัทจัดการจะคำนวณอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม เพื่อจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ดังนี้
1. อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ กำหนดไว้ที่อัตรา 3% ต่อปี โดยเป็นอัตราคงที่ ตลอดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี
2. อัตราผลตอบแทนขั้นสูง กำหนดไว้ที่อัตรา 9% ต่อปี โดยเป็นอัตราคงที่ ตลอดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี
- ผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก.
บริษัทจัดการ จะจ่ายเงินปันผลในแต่ละปีให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จากกำไรสุทธิ และ/หรือกำไรสะสม และ/หรือกำไรจากการลงทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง (กำไรของกองทุนรวม) และ/หรือสำรองเงินปันผล ตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูงที่กำหนดไว้ ดังนี้
1. ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ
2. ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม มากกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ แต่น้อยกว่า หรือเท่ากับอัตราผลตอบแทนขั้นสูง บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม
3. ในกรณีที่อัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม มากกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูง บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.ในอัตราผลตอบแทนขั้นสูง
เมื่อบริษัทจัดการคำนวณอัตราผลตอบแทน เพื่อจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ตามแนวทางดังกล่าวแล้ว บริษัทจัดการจะคำนวณเงินปันผลของหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยการนำอัตราผลตอบแทนดังกล่าวคูณด้วยมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนประเภท ก.
ในกรณีที่กองทุนรวมมีกำไรของกองทุนรวม และ/หรือสำรองเงินปันผล บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
- ผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ข.
ผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ข. เท่ากับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม ลบด้วยผลตอบแทนของหน่วยลงทุนประเภท ก. บริษัทจัดการอาจพิจารณาจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. เมื่อเข้าเงื่อนไขนี้
1. มูลค่าทรัพย์สินของหน่วยลงทุนประเภท ข. (NAV) ณ วันสิ้นทำการก่อนวันที่บริษัทจัดการมีดุลยพินิจให้จ่ายเงินปันผลดังกล่าวสูงกว่า NAV เริ่มต้น
2. กำไรของกองทุนรวม มีจำนวนเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผล
- สูตรคำนวณการแบ่งมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV)
1. มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหน่วยลงทุนประเภท ก. (NAV) เท่ากับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต้นปีของหน่วยลงทุนประเภท ก.บวกด้วยผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับของหน่วยลงทุนประเภท ก.ลบด้วยเงินปันผลที่จ่ายให้หน่วยลงทุนประเภท ก.
2. มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหน่วยลงทุนประเภท ข. (NAV) เท่ากับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมของกองทุนรวม ลบด้วย NAV
- การซื้อหน่วยลงทุน
- วันทำการซื้อ : เสนอขายเพียงครั้งเดียว โดยบริษัทจัดการจะนำหน่วยลงทุนประเภท ก. ไปจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนั้น ผู้ลงทุน สามารถทำการซื้อขายหน่วยลงทุนประเภท ก.ได้ทุกวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ
- วันทำการขายคืน : ก่อนครบกำหนดระยะเวลาการลงทุน (10 ปี) ผู้ลงทุนสามารถทำการซื้อขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้ทุกวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการลงทุน 10 ปี หากกองทุนรวมประสงค์จะระดมทุนต่อ บริษัทจัดการจะแจ้งรายละเอียด พร้อมส่งหนังสือแจ้งความจำนงให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่จะกำหนดและประกาศให้ทราบต่อไป ในกรณีที่กองทุนรวมไม่ประสงค์จะระดมทุนต่อ บริษัทจัดการจะรับซื้อคืน หรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ก.ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ
- อายุโครงการ : กองทุนรวมไม่กำหนดอายุโครงการ ทั้งนี้ สำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี
- นโยบายการจ่ายเงินปันผล
- หน่วยลงทุนประเภท ก. : จ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เฉพาะกรณีที่กองทุนรวมมีกำไรของกองทุนรวม และ/หรือสำรองเงินปันผล ตามอัตราผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนรวม แต่ไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ และไม่เกินกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นสูงที่กำหนดไว้ ซึ่งกำหนดเป็นอัตราคงที่ ตลอด 10 ปี ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลในรูปของเงินสด
- หน่วยลงทุนประเภท ข. : จ่ายเงินปันผลเฉพาะกรณีที่กองทุนรวมมีกำไรของกองทุนรวม ทั้งนี้ อัตราและจำนวนครั้งในการจ่ายเงินปันผล จะเป็นไปตามดุลยพินิจของบริษัทจัดการ หากเข้าเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลของหน่วยลงทุนประเภท ข. ทั้งนี้ ผู้ถือลงทุนประเภท ข. จะได้รับเงินปันผลในรูปเงินสด หลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์อื่น
*กลไกในการคุ้มครองเงินทุน และผลตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุน
- ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวม ก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. (Waterfall Structure) ในขณะที่ความผันผวนของราคาทรัพย์สินของกองทุนรวม จะถูกส่งผ่านมาให้หน่วยลงทุนประเภท ข. โดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะรับผลขาดทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมมีมูลค่าลดลง
- ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. มีสิทธิได้รับชำระคืนเงินลงทุนภายหลังจากที่ชำระคืนเงินลงทุน และผลตอบแทนตามสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. (คำนวณจนถึงวันที่มีการซื้อคืนหน่วยลงทุน) ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.ครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ในการขายคืนหน่วยลงทุนประเภท ข. ในกรณีที่การขายคืนดังกล่าว เข้าเงื่อนไขการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ข.ตามที่กำหนดในโครงการ
ทั้งนี้ รายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่าจะเปิดขายในรายย่อย 16-20 ก.ย. และสถาบัน 18-20 ก.ย.คาดว่าจะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นได้ในช่วงต้นเดือน ต.ค.
ขณะที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง ออกหนังสือชี้ชวนแล้วระบุให้ผลตอบแทนขั้นต่ำถึงขั้นสูง 3-9% ระยะเวลาลงทุน 10 ปี คัดเลือกหุ้นที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายโดยอ้างอิง
- หุ้นที่มี ESG Rating A ขึ้นไปสำหรับ SET100 และ AA ขึ้นไปสำหรับหุ้นนอก SET100
- เน้นหุ้นที่มี Dividend Yield ราว 3% หรือสูงกว่า หรือหุ้นเติบโตดี (Dividend Yield อาจไม่ถึง 3%)
ได้แก่ ADVANC AP BAM BBL BCH BDMS BJC CPALL CPN HMPRO ICHI INTUCH KBANK KTB MEGA MINT OSP SC SIRI TISCO WHA WHAUP PR
ขณะที่ บล.อาร์เอชบี ระบุว่า กลุ่มแบงก์มีแรงซื้ออย่างหนาแน่น จากการศึกษาจากเราจะพบว่ากลุ่มแบงก์น่าจะเป็นอีก 1 กลุ่มที่เป็นเป้าหมายของกองทุนวายุภักษ์ เนื่องจากมี dividend yield ค่อนข้างดี มากกว่า 5% ซึ่งตรง spec ของกองทุนวายุภักษ์ที่การันตีผลตอบแทนไว้ที่ 3% ต่อปี กอปรกับปัจจุบันราคาหุ้นยังเทรดต่ำกว่าบุ๊คแวลู
จากการเปรียบเทียบหุ้นใหญ่ 5 ตัวในกลุ่มประกอบไปด้วย BBL, KBANK, KTB, SCB, TTB จะพบว่าราคาหุ้นในปัจจุบันของ SCB, TTB เทรดที่ 0.8 เท่าของบุ๊ค ในขณะที่หุ้น KBANK, KTB เทรดที่ 0.68 เท่า และ BBL เทรดที่ 0.55 เท่า เพราะฉะนั้นหุ้นที่ยังมี upside คือ KBANK, KTB และ BBL ส่วนหุ้นบริหารสินทรัพย์ BAM เทรดที่ 0.65 เท่า JMT เทรดที่ 1 เท่า แนะนำซื้อ BAM ขาย JMT