"วายุภักษ์" เปิดขายรายย่อย 16-20 ก.ย.คาดเริ่มทยอยลงทุน 1 ต.ค.เข้าเทรด 7 ต.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 9, 2024 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง กล่าวว่า กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อหน่วยลงทุนประเภท ก.รอบใหม่ได้เป็นกลุ่มแรกในวันที่ 16-20 ก.ย.นี้ วงเงินรวมเบื้องต้น 3.5 หมื่นล้านบาท ในราคาเสนอขายหน่วยละ 10 บาท โดยสามารถจองซื้อขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท และเพิ่มขึ้นได้ครั้งละ 1,000 บาท จัดสรรในรูปแบบ Small Lot First เพื่อกระจายให้ผู้ลงทุนได้อย่างทั่วถึง ประกาศผลการจัดสรรในวันที่ 25 ก.ย.67 ชูอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี และขั้นสูงไม่เกิน 9% ต่อปี คงที่ตลอดระยะเวลาการถือลงทุน 10 ปี

สำหรับผู้เสนอขายหน่วยลงทุน ได้แก่ บลจ.กรุงไทย บลจ.เอ็มเอฟซี ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

ส่วนที่เหลือราว 1-1.2 แสนล้านบาท จะเสนอขายให้กับนักลงทุนประเภทสถาบันในช่วงวันที่ 18-20 ก.ย.

ทั้งนี้ กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง คาดว่าจะเริ่มนำเงินเม็ดเงินระดมทุนใหม่เข้าลงทุนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. และจะนำหน่วยลงทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 7 ต.ค.67

นาวชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บบจ.กรุงไทย ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เปิดเผยว่า เม็ดเงินใหม่ราว 1-1.5 แสนล้านบาท จะถูกนำไปรวมกับเม็ดเงินเดิมของกองทุนที่ได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิดเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ล่าสุด มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) 353,596 ล้านบาท

ทั้งนี้ นับจากปี 57-66 กองทุนฯ ได้รับเงินปันผลจากหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 12,278 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลรับต่อมูลค่าพรัพย์สินสุทธิเฉลี่ย 3.75% ซึ่งเพียงพอที่จะจำยผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นอกจากนี้ กองทุนฯ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 กองทุนฯมีกำไรสะสม ประมาณ 142,739 ล้านบาท

กองทุนฯ มึนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบบเชิงรับ (Passive Investment) ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ บริษัทใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บล.ฟินันช่า ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนของกองทุนฯ แต่ละปี จะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในรูปแบบเงินปันผลตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ ในอัตราไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี แต่ไม่เกินกว่า 9% ต่อปี โดยปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน แต่เป็นกลไกคุ้มครองผลตอบแทนของกองทุนฯ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.จะได้รับเงินปันผลก่อน จากนั้นผลตอบแทนส่วนที่เหลือ จะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.

ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อหน่วย

"กลไกดังกล่าว ไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินลงทุนเท่ากับมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น โดยในกรณีที่ NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันครบกำหนดระยะเวลากาการลงทุนเบื้องต้น (10 ปี) ต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจได้รับคืนเงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นได้" นายวราห์ ระบุ

อย่างไรก็ดี เมื่อครบระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี หากกองทุนฯ จะระดมทุนต่อ จะให้สิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.ขยายระยะเวลาการลงทุน หรือขายคืนหน่วยลงทุน (redeem) ตามแนวทางที่กำหนด อย่างไรก็ตาม หากกองทุนฯ ไม่ประสงค์จะระดมทุนต่อ บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดโดยอัตโนมัติในราคาเดิม

แต่หากกองทุนฯ จะระดมทุนต่อ ก็จะให้สิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.เดิม แจ้งความประสงค์ว่าต้องการลงทุนต่อหรือไม่ กรณีผู้ลงทุนไม่ลงทุนต่อ ผู้ลงทุนมีสิทธิขายคืนหน่วยลงทุนตามแนวทางที่บริษัทจัดการกำหนด กองทุนรวมฯ ไม่ได้รับประกันเงินลงทุน แต่มีกลไกในการคุ้มครองเงินลงทุน คือ ผู้ถือหน่วย ก. จะได้รับเงินลงทุนคืนก่อนผู้ถือหน่วย ข.

"ก่อนที่กองทุนฯ จะครบ 10 ปี จะมีการประชุมกันโดยคณะกรรมการกำกับกองทุนวายุภักษ์ ว่าจะทำต่อหรือไม่ทำต่อ ถ้าทำต่อ 3% กับ 9% จะขยับเป็นเท่าไร เพราะเราไม่รู้เหตุการณ์ในวันนั้น ตัวเลขอาจเปลี่ยนไปบ้าง และหากวันนี้กองทุนฯ เริ่มที่ 5 แสนล้านบาท แต่วันนั้นเกิดขึ้นไป 8 แสนล้านบาท อาจจะระดมเพิ่มได้ แต่หากวันนั้นกองทุนฯ เล็กลง ก็อาจจะตัดสินใจให้ลดลง ซึ่งเมื่อตัดสินใจแบบนี้ จะเปิดโอกาสให้ผู้ถือหน่วย ขายคืนหน่วย และจะมีการเพิ่มทุนเหมือนที่เราจะทำกันในอาทิตย์หน้า ที่จะมีการเพิ่มทุน ระดม 150,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีกลไกแบบนี้ เกิดขึ้นทุกปีที่ 10" นายวราห์ กล่าว

ทั้งนี้ กองทุนฯ มีกลไกการบริหารความเสี่ยง จากการกำหนดอัตราส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทั้งกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเพ ก. (Asset Coverage Ratio "ACR") โดยจากข้อมูล NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันที่ 6 ก.ย.67 และในกรณีที่เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท ACR จะอยู่ที่ประมาณ 3.36 เท่า ซึ่งกรณีที่ ACR ลดลงต่ำกว่า 2 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการจะเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือกันส่วนสำรองเพื่อการจ่ายเงินปันผลให้เพียงพอต่อการจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเกท ก.ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี

และกรณี ACR ลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการอาจพิจารณาเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง จำนวนไม่น้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก.ภายในระยะเวลา 90 วัน และเก็บไว้เป็นเงินสำรองตามมาตรการชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยจะทยอยเปลี่ยนสินทรัพย์เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดหรือบางส่วน

ดังนั้น จึงเสมือนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับความคุ้มครองจากกลไกการบริหารความเสี่ยงก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. และเพื่อตอบแทนการให้ความคุ้มครองตามกลไกบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะได้รับเงินปันผล หรือมีสิทธิขายคืนหน่วยลงทุนตลอดอายุโครงการ จาก NAV ข. ส่วนที่เกินจาก NAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่ 300,000 ล้านบาท

"กลไกบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่ากองทุนฯ จะสามารถจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.ได้นั้น ถ้า NAV ของกองทุนฯ เริ่มลดลงในระยะที่คิดว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น บลจ.จะเพิ่มสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อย ซึ่งมักเป็นในรูปพันธบัตรบัตรรัฐบาลเข้ามา เพื่อที่จะมีความมั่นใจในการจ่ายผลตอบแทนได้ ยกตัวอย่าง ถ้ากองทุนฯ ลงมาต่ำที่ระดับ 225,000 ล้านบาท ก็จะให้มีเงินสภาพคล่องเพียงพอที่จะคืนเงินได้ทั้งหมดเลย คือ 150,000 ล้านบาท" นายวราห์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ