PMC ปิดเทรดวันแรก 1.85 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ +1.65% จากราคา IPO 1.82 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ บมจ. พีเอ็มซี เลเบิล แมททีเรียลส์ (PMC) ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สติ๊กเกอร์เปล่า (Sticker) หรือฉลากกาว (Self-Adhesive Label) โดยมีผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ สติ๊กเกอร์กระดาษ สติ๊กเกอร์ฟิล์ม และสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษอื่นๆ เป็นวัตถุดิบต้นน้ำสำหรับการผลิตฉลากสินค้าและฉลากบรรจุภัณฑ์ จำหน่ายให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 15 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการจำหน่ายในต่างประเทศดำเนินการผ่านบริษัทย่อย คือ PMCS ในประเทศสิงคโปร์ และ PMCM ในประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานะเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ซีลิค คอร์ป (SELIC) ผู้ผลิตและจำหน่ายกาวอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ
สำหรับธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นธุรกิจที่การแข่งขันยังไม่สูงมาก และ PMC เป็นบริษัทย่อยของ SELIC ผู้ผลิตและจำหน่ายกาว รวมทั้งประสบการณ์ในธุรกิจของบริษัทเอง เราจึงมองว่า องค์ความรู้ต่างๆ ที่บริษัทได้รับจาก SELIC ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การปรับสูตรผสมกาว ทำให้ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นจุดแข็งของบริษัท หากนับในด้านกำลังการผลิต หลังจากที่เพิ่มกำลังการผลิตแล้ว กำลังการผลิตสติ๊กเกอร์รวมทั้งสิ้นจะอยู่ที่ 185 ล้านตารางเมตรต่อปี ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 3 ของผู้ประกอบการในประเทศไทย
มุมมองเชิงบวกต่อรายได้ใน H2/67 คาดรายได้ปี 67 เติบโตขึ้นเล็กน้อย แต่จะขยายตัวขึ้นอีกในปี 68 หลังสายการผลิตใหม่จะเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงต้น Q1/68 อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองเชิงบวกในช่วงครึ่งหลังของปีจากการบริโภคในประเทศที่จะขยายตัวขึ้นตามมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล และสถานการณ์ทางการมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคถือเป็นลูกค้าหลักของบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าต่างประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มเติม เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย
จากการเน้นสินค้าอัตรากำไรสูง คาดกำไรเติบโตขึ้น จากการที่บริษัทมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง(สติ๊กเกอร์ฟิล์มและสติ๊กเกอร์ชนิดพิเศษ) และแนวโน้มต้นทุนจากตารางคาดการณ์ (ในหน้าก่อนหน้า) ที่บริษัทคาดว่าต้นทุนในช่วงครึ่งปีหลังจะทรงตัว ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นใกล้เคียงกับช่วง 1H24 ประกอบกับบริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งปรับลงอย่างมีนัยสำคัญ YoY จึงคาดว่าอัตรากำไรปีนี้จะสูงขึ้น YoY และกำไรเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การระดมทุนตามวัตถุประสงค์เพื่อขยายธุรกิจในครั้งนี้มีความเหมาะสม โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ คือ 1) อัตราการใช้กำลังการผลิต 2) การขยายศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ 3) อุปสงค์สินค้า
ความเสี่ยง 1) พึ่งพิงผู้จำหน่ายวัตถุดิบรายใหญ่น้อยราย 2) สินค้าทดแทน เช่น ฉลากที่ไม่ต้องใช้กาว หรือฉลากที่พันโดยใช้ความร้อน 3) เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากการประเมินมูลค่าเบื้องต้น อิงจาก PER เฉลี่ยของบริษัทในดัชนี mai-INDUS ที่ 18.2x เท่า มองว่ามูลค่าเหมาะสมของบริษัท ณ ราคา IPO ยังมี Upside