ศาลปกครองยกฟ้องคดี STEC เรียกค่าเสียหายกรณีส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างรัฐสภาใหม่ล่าช้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 17, 2024 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ระหว่าง บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกฟ้อง

ศาลพิเคราะห์ข้อกำหนดในเอกสารประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างและข้อตกลงในสัญญาพิพาทแล้ว เห็นว่าทั้ง STEC และ สำนักงานเลขาฯสภา ต่างรับรู้และตระหนักถึงปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่อาจไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ในเบื้องต้น โดยเห็นได้จากในข้อ 1 วรรคสองของสัญญาพิพาท ตกลงกันว่าในการดำเนินการตามสัญญานี้ ผู้ว่าจ้างจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หรือตามความพร้อมของผู้ว่าจ้าง

และในกรณีที่มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าผู้รับจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากผู้ว่าจ้างได้ หรือหากผู้ว่าจ้างไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และผู้รับจ้างไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากผู้ว่าจ้างได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่สำนักงานเลขาฯสภา ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องแก่ STEC ได้ตามที่กำหนดไว้ หรือในกรณีที่ผู้รับจ้างรายอื่นๆ ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่หรือผลงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานของ STEC ได้ตามที่ตกลงกันไว้ สำนักงานเลขาฯสภา มีหน้าที่ต้องพิจารณาขยายระยะเวลาของงานส่วนที่ต้องล่าช้าออกไปให้แก่ STEC ตามความเหมาะสม แต่สำนักงานเลขาฯสภา ไม่มีหน้าที่ชดเชยค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้แก่ STEC ทั้งสิ้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ STEC ไม่เป็นไปตามแผน และ STEC ประสบปัญหาอุปสรรคความล่าช้าในการขนดินออกจากพื้นที่ก่อสร้าง เนื่องจากสำนักงานเลขาฯสภา ไม่สามารถจัดหาที่พักดินให้ได้ตามสัญญาทำให้มีผลกระทบต่องานก่อสร้าง ซึ่งเหตุดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ว่าจ้างไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องแก่ผู้รับจ้างตามกำหนดไว้

และปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากการหาสถานที่ทิ้งดิน รวมถึงการที่ผู้รับซื้อดินที่สำนักงานเลขาฯสภา จัดหามาไม่สามารถขนย้ายดินออกจากโครงการได้ทัน เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างรายอื่นๆ ไม่สามารถส่งมอบงานที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับงานของผู้รับจ้างได้ตามที่ตกลงกันไว้ ตามนัยข้อ 24.2 ของสัญญาพิพาทที่ STEC มีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างออกไปและ สำนักงานเลขาฯสภามีหน้าที่ต้องพิจารณาขยายระยะเวลาของงานส่วนที่ต้องล่าช้าออกไปตามความเหมาะสม

เมื่อ STEC ได้มีหนังสือขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปหลายครั้ง สำนักงานเลขาฯสภาก็ได้ประชุมพิจารณาร่วมกับที่ปรึกษาบริหารโครงการ คณะกรรมการตรวจการจ้าง ผู้ควบคุมงาน STEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วได้ขยายเวลาทำการก่อสร้างตามสัญญาออกไป 4 ครั้ง รวมเป็นเวลา 1,864 วัน จึงเห็นว่าสำนักงานเลขาฯสภา ได้ทำหน้าที่ขยายเวลาของงานที่ต้องล่าช้าออกไปให้แก่ STEC ตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว STEC จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ จากสำนักงานเลขาฯสภาทั้งสิ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ