THG ร่วง 22.38% มาที่ 19.60 บาท ลดลง 5.85 บาท มูลค่าซื้อขาย 12.00 ล้านบาท เมื่อเวลา 9.59 น.) จากราคาเปิด 19.50 บาท ราคาต่ำสุด 19.10 บาท ราคาสูงสุด 20.30 บาท
นางสาวณัฐธกานต์ จิตติณพัฒน์ เลขานุการบริษัท บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) รายงานการตรวจพบรายการต้องสงสัยโดย เมื่อวันที่ 23 ส.ค.67 คณะกรรมการตรวจสอบได้รับทราบข้อมูลการทำรายการอันควรสงสัยของบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ (ก) บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่ง THG ถือหุ้น 83.03% และ (ข) บริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่ง THG ถือหุ้น 51.22%
ประกอบด้วย
(ก) THB และ THH ให้กู้ยืมเงินแก่ บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มครอบครัววนาสินเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในเดือนธันวาคมปี 65-ปี 66 จำนวน 6 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 145 ล้านบาท
(ข) THB ให้กู้แก่ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด ซึ่งมี RTD เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 66 จำนวน 1 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 10 ล้านบาท
(ค) THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทในสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 66 จำนวน 2 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวม 55 ล้านบาท
การเข้าทำรายการอันควรสงสัยตามข้างต้น เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายบริหารบางส่วนของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นการกระทำนอกอำนาจหน้าที่ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทย่อย ไม่ได้ปฏิบัติตามประกาศเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกันของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) และไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทฯ
ณ ปัจจุบัน ยอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยดังกล่าวรวมทั้งสิ้นประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่นับรวมดอกเบี้ย)
บริษัทฯ ได้แจ้งให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ทราบถึงรายการอันควรสงสัยดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 และบริษัทฯ ขอให้ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายการอันควรสงสัยดังกล่าว โดยบริษัทคาดว่าหากมีผลกระทบจะสามารถเปิดเผยในงบการเงินรวมของไตรมาส 3/67 ที่กำลังจะจัดทำและเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เริ่มดำเนินการแก้ไขเหตุการณ์ที่ตรวจพบเพื่อรักษามาตรฐานในการบริหารจัดการ ดังนี้
1.โยกย้ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยให้ออกจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องทันที
2.สอบสวนข้อเท็จจริง และอยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมายต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำรายการอันควรสงสัยดังกล่าวจนถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทฯและผู้ถือหุ้น
3. เน้นย้ำและกำชับให้บุคคลากรของบริษัทและบริษัทย่อย ปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในที่เกี่ยวข้องกับการด เนินงานของบริษัทย่อยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย และ/หรือทางกฎหมาย อย่างเด็ดขาด
4.อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และความเสี่ยงโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ครอบคลุมทั้งด้านการเงิน การดำเนินธุรกิจ และความเสี่ยงด้านกฎหมาย เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทสามารถจัดการกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจจ้างที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกตามความเหมาะสมเพื่อให้ความช่วยเหลือในการวางแผนแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงเพิ่มเติม