นายวีรพัฒน์ เพชรคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทรีนีตี้ ประกาศทิศทางธุรกิจช่วงที่เหลือปี 67 ดันผลงานฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ตอบรับสัญญาณตลาดหุ้นฟื้นส่งผลวอลุ่มเทรดขยับเพิ่ม หนุนธุรกรรมเกี่ยวข้องกับตลาดทุนคึกคัก และนักลงทุนเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้นอีกครั้ง ดังนั้น บริษัทจะใช้โอกาสตลาดหุ้นกำลังฟื้นตัวเตรียมความพร้อมด้านธุรกิจค้าหลักทรัพย์อย่างเต็มที่ ด้วยการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ทั้งหุ้นและ TFEX โดยจะเปิดรับเพิ่มอีกราว 200 อัตรา
โดยเฉพาะในฝั่ง TFEX เราได้ขยายฐานลูกค้าจนปัจจุบันสามารถสร้างมาร์เก็ตแชร์ให้เติบโตเพิ่มขึ้น 4-5 เท่า เป็นกว่า 2% จากก่อนหน้ามีส่วนแบ่งเพียง 0.2% พร้อมตั้งเป้าในปี 68 จะขึ้นเป็น Top5 ให้ได้ ส่วนตลาดหุ้น ปัจจุบัน บล.ทรีนีตี้ มีมาร์เก็ตแชร์ราว 1%
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ทรีนีตี้ ให้เป้าหมายดัชนี SET ปี 67 อยู่ที่ 1,480 จุด และปี 68 ที่ 1,600 จุด โดยมองว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยลบลดลงหลังผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว การเมืองมีเสถียรภาพ เม็ดเงินใหม่จากกองทุนวายุภักษ์และกองทุน ThaiESG กำลังจะเข้ามา รวมถึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ (Fund Flow) ที่ยังคงไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง มองว่ากลุ่มแบงก์น่าจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องสูง
ด้านวอลุ่มรายย่อยคาดว่าปลายปีนี้จะทยอยเพิ่มเป็น 3-4 หมื่นล้านบาท/วัน ซึ่งเป็นระดับที่โบรกเกอร์อยู่ได้
ทรีนีตี้ มีแผนจะขยายฐานลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้า 8 หมื่นบัญชี และบัญชีเคลื่อนไหว (Active) อยู่ 10-15% ซึ่งสูงกว่าภาพรวมที่มีอยู่ 6-7% เท่านั้น นอกจากนี้จะเพิ่ม Product ที่แตกต่างจากโบรกเกอร์ที่อยู่ในกลุ่มแบงก์ เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น โดยจะมีหลากหลายและครอบคลุมให้มากขึ้น ส่วนวงเงินมาร์จิ้น ปล่อยไปราว 1.5 พันล้านบาท ถือว่ายังต่ำเมื่อเทียบกับรายอื่น ปัจจุบันได้เคลียร์หนี้มาร์จิ้นออกไปหมดแล้ว และไม่ได้ส่งผลกระทบกับรายได้จากค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์
นอกจากนั้น บริษัทยังเพิ่มทีมตราสารหนี้และปรับกลยุทธ์การออกตราสารหนี้ให้มีระดับความเสี่ยงที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเป็นที่ปรึกษาการออกตราสารหนี้ 20-22 ดีล โดยมองว่าเป็นการเพิ่มสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลาย ซึ่งขณะนี้เห็นว่าหุ้นกู้ที่มีปัญหาน่าจะลดน้อยลงไปมากแล้ว
"ตลาดตราสารหนี้ ไม่โตเหมือนเมื่อก่อน นักลงทุนจะไปเล่นหุ้น แต่ก็มีลูกค้าถามหา เราอยากให้ลูกค้าอยู่ใน Ecosystem เรา แต่เรามีหุ้นกู้เยอะขึ้น เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น"
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนงานด้านวาณิชธนกิจ (IB) บริษัทจะขยายบริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (IPO) ขณะนี้มีดีลในมือ 13-14 ดีลที่จะทยอยส่งเข้าจดทะเบียนในปี 67-68 โดยมี 1 ดีลคือ บมจ.โรงพยาบาลนครธน น่าจะเข้าตลาดหุ้นในปลายปีนี้ และอีก 2 ดีลคาดว่าจะเข้าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยหนึ่งในนั้นเป็นดีล IPO ขนาดใหญ่ในกลุ่มบริการ
บริษัทยังมีแผนจะเพิ่มทีมงาน IB ที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งมีฐานลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศ ได้แก่ อินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และในประเทศแถบตะวันออกกลาง ขณะนี้มีดีล M&A ในมือแล้ว 8-10 ดีล ครอบคลุมในเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยมี 1 ดีลที่เป็นดีลปรับโครงสร้างบริษัทจดทะเบียน
"ดีล M&A และดีลปรับโครงสร้างธุรกิจมีเข้ามาต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาการปรับเปลี่ยนธุรกิจไปธุรกิจอื่นที่จะเป็นตัวสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจแทนธุรกิจเดิม มีจำนวนเคสมากขึ้น โดยจะปรับเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจไอที ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Health Care"
ด้านธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทมีกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าด้วยการเข้าร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายกองทุนมากขึ้น และตั้งเป้าจะมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 3,200 ล้านบาท จากปัจจุบัน 2,400 ล้านบาท คาดหวังว่าจะได้เห็นรายได้จากงานขายกองทุนดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการเป็นตัวแทนขายกองทุนให้กับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จากปัจจุบันเป็นตัวแทนแล้ว 15 แห่ง
บริษัทยังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์ม และปรับปรุง Application เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการทำรายการซื้อขายผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงพัฒนาระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ และปรับปรุงระบบการเปิดบัญชีให้สะดวกสบายมากขึ้น ในส่วนของพนักงาน บริษัทมีแผนในการพัฒนาโปรแกรมการวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จะเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ใช้ในการเลือกหุ้นให้แม่นยำ เพื่อสนับสนุนการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ บริษัทจะพัฒนาระบบการทำงานภายในองค์กรให้ทันสมัย และปลูกฝังให้พนักงานได้เรียนรู้เรื่องการนำ AI เข้ามาใช้ในการทำงาน และเตรียมพัฒนาระบบให้รองรับการทำงานในรูปแบบ work from home
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า โครงสร้างรายได้ของ บล.ทรีนีตี้ยังคงเดิม คือรายได้จากค่านายหน้า 30-40% ที่เหลือเป็นรายได้จากวาณิชธนกิจและเงินลงทุน แต่คาดว่าฐานรายได้จะสูงขึ้น
สำหรับผลดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 16.49 ล้านบาท เทียบกับงวดครึ่งแรกปี 66 ที่ขาดทุน262.37 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้รวมและกำไรเงินลงทุนปรับตัวดีขึ้น ขณะที่งวดไตรมาส 2/67 มีกำไรสุทธิ 0.63 ล้านบาท เทียบงวดเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 239.18 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 294.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69.07%