นายธีรศักดิ์ ประสิทธิ์รัตนพร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธีระมงคล อุตสาหกรรม (TMI) เปิดเผยว่า องค์การบริหารจัดการก๊าชเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุมัติให้ บริษัท กรีนเอิร์ธ เอ็นเนอร์จี จำกัด (โรงงานสุพรรณบุรี) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ TMI ขึ้นทะเบียน "โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทยแบบมาตรฐาน (Standard T-VER)" โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จำนวน 113,259 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการ 7 ปี (6 มีนาคม 2566 ? 5 มีนาคม 2573) คาดการณ์ปริมาณคาร์บอนเครดิต 7 ปี รวม 792,813 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ก่อนหน้านี้ ในปี 2566 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Environmental Research Institute Chulalongkorn University) ได้เคยประเมินผลตามมาตรฐาน Gold Standard และคำนวณการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โรงไฟฟ้าชีวภาพ จังหวัดสุพรรณบุรี บริษัทในเครือ TMI ผลปรากฏว่า มีระดับที่ใกล้เคียงกับที่ อบก.ประเมิน
ปัจจุบัน มีลูกค้าของบริษัท โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสนใจติดต่อซื้อคาร์บอนเครดิตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในอนาคตจะมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนของกรมสรรพสามิต ทั้งการจัดเก็บทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต และการเก็บทางอ้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยคาดว่าจะเคาะราคากลางอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ทั้งนี้ TMI คาดการณ์ราคาขายคาร์บอนเครดิตในอนาคตที่ราคา 150-170 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งหากขายได้ตามราคาคาดการณ์จะคิดเป็นรายได้ในส่วนของคาร์บอนเครดิต รวมทั้งโครงการประมาณ 119-135 ล้านบาท