สปป.ลาว นำร่องโมเดล "ธนาคารทองคำ" แห่งแรกในอาเซียน อัพค่าเงินกีบหวังดัน GDP โต 10-15%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 30, 2024 11:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สปป.ลาว นำร่องโมเดล

นายจันทร สิดทิไซย ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง กล่าวว่า บริษัท ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังลาวเปิดตัวธนาคารทองคำลาว (Laos Bullion Bank) แห่งแรกในอาเซียน ณ กรุงเวียงจันทร์ สปป.ลาว เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับค่าเงินกีบผ่านการใช้กลไกทุนสำรองระหว่างประเทศ ด้วยการนำทองคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทุนสำรองระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ด้วยการนำทองคำในครอบครองของประชาชนลาวและห้างร้านต่างๆ หรือทองนอกระบบเข้ามาในระบบ ผ่านการฝากทองคำกับธนาคารทองคำลาว ระยะเวลาการฝาก 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี

บทบาทของธนาคารทองคำลาวจะเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาค่าเงินกีบที่เสื่อมค่าลง โดยธนาคารทองคำลาวจะเป็นหนึ่งในกลไลในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชน ห้างร้าน และภาคธุรกิจต่างๆ ในสปป.ลาว สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ผ่านการให้ใบยืนยันสิทธิฝากทอง (Certificate) เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อนำเงินไปใช้ลงทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน จับจ่ายใช้สอย ให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนในประเทศได้ ทำให้เกิดการใช้เงินกีบอย่างแพร่หลายในประเทศ

ขณะที่ภาพรวมการถือครองทองคำใน สปป.ลาว ของประชาชนทั้งหมดมีจำนวนราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นมูลค่ามหาศาล แต่มูลค่าการถือครองทองคำไม่ได้ถูกนำมารวมเข้าในตัวเลขเศรษฐกิจของลาว เพราะยังเป็นสินทรัพย์ที่อยู่นอกระบบ ธนาคารทองคำลาวจะเป็นตัวกลางนำสินทรัพย์ทองคำเข้ามารวมอยู่ในระบบ และหากรวมกับจำนวนเงินฝากทั้งหมดในประเทศซึ่งอยู่ที่ 1.8-2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งทำให้เกิดสภาพคล่องกับสปป.ลาวอย่างมหาศาล และผลักดันให้เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตได้ 10-15% ต่อปี จากปัจจุบันที่เติบโตเพียง 5% ต่อปี ซึ่งจะทำให้ค่าเงินกีบเข้มแข็งมากขึ้น

สปป.ลาว ยังประสบปัญหาการมีหนี้สาธารณะเป็นสกุลเงินต่างชาติสัดส่วนสูง และขาดดุลจากสกุลเงินต่างชาติ ธนาคารทองคำลาวจะเป็นส่วนหนึ่งในการที่นำทองคำมาเข้ามาในระบบ เพื่อสร้างความสมดุลของทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันปป.ลาวมีสำรองทองคำกว่า 1,000 ตัน ยังไม่รวมทองคำที่ยังไม่ขุดพบในเหมืองอีก 58 แห่ง และทองคำที่อยู่นอกระบบ โดยรวมคาดว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และทรัพยากรอื่นๆ ที่ยังไม่ได้มีการบริหารจัดการ รวมถึงเหมืองแร่โปแตชที่เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ทำให้แท้จริงแล้วสปป.ลวจะมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ในอัตราสูง และอัตราส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สินที่ 10:1 ทำให้ฐานะทางการเงินของสปป.ลาวแท้จริงถือว่ามีความแข็งแกร่ง

สำหรับการดำเนินงานของธนาคารทองคำลาวในการรับฝากทองคำ ในช่วงแรกจะเริ่มให้บริการรับฝากทองคำเฉพาะประชาชนลาวและภาคธุรกิจใน สปป.ลาวก่อน เฟสต่อไปจะขยายการไปยังกลุ่มชาวต่างชาติ การเก็บรักษาทองจะต้องนำทองคำไปฝากไว้ที่ธนาคารกลางของลาว ซึ่งอยู่ระหว่างการพูดคุยอัตรานำฝาก คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 68 แต่การสำรองทองคำของธนาคารทองคำลาวจะต้องมีการสำรองทองคำในอัตรา 110% เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง และรักษาเสถียรภาพของธนาคารทองคำลาว

ด้านการการหารายได้ของธนาคารทองคำลาว จะมาจากการปล่อยกู้ให้กับห้างทอง หรือธุรกิจอื่นๆ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 6-8% และนำทองคำที่รับฝากไปซื้อขาย (Trading) ในตลาดทองคำโลกภายใต้มาตรฐานทองคำโลกอย่าง LBMA โดยที่ทองคำที่ธนาคารทองคำลาวนรับฝากจะต้องมีปริมาณทองคำ 99.99% ตามมาตรฐานของ LBMA ด้วยเช่นกัน

สำหรับเงินลงทุนในการจัดตั้งธนาคารทองคำลาวใช้เงินลงทุนไปกว่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งต้นทุนหลักส่วนใหญ่มาจากการลงทุนใน Lab ที่ต้องได้รับมาตรฐานการรับรอง LBMA และเป็นเครื่องมือจากเยอรมันในการพิสูจน์ปริมาณทองคำ และการหลอมทองคำ รวมถึงต้นทุนการซื้อทองคำเข้ามาเป็นทองคำสำรอง พร้อมกับตั้งเป้าภายในปี 68 จะมีปริมาณรับฝากทองคำ 10 ตัน และมองโอกาสขยายสาขาไปยังหัวเมืองอื่นๆ ได้แก่ หลวงพระบาง นครหลวง สะหวันนะเขต จำปาสัก และอุดมไซย เป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงการบริการรับฝากทองคำในทุกพื้นที่ของสปป.ลาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ