นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) ยื่นข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการโดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น รวมกับหุ้นที่เหลือจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมเป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้ (Voluntary Conversion) ไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนและพนักงานของการบินไทยตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ
ราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่เป็นราคาสุดท้ายคาดว่าจะสรุปได้ในปลายเดือนต.ค. หรือต้นพ.ย.นี้ โดยในช่วงกลางเดือนต.ค.จะมีช่วงราคาเสนอขายจากที่ปรึกษาการเงินอิสระ (IFA) จากนั้นจะให้ผู้ถือหุ้นเดิมเป็นกลุ่มแรกจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ถัดมาเปิดให้พนักงานจองซื้อภายในเดือนพ.ย. และหากยังเหลือจะนำไปเสนอขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรใหม่ไม่น้อยกว่า 5 ราย ที่มีทั้งสายการบิน และนักลงทุนสถาบัน
ทั้งนี้ การบินไทย จะขายหุ้นเพิ่มทุน 9,822 ล้านหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม พนักงาน และนักลงทุนเฉพาะเจาะจง(PP) ในราคาสูงกว่า 2.5452 บาท/หุ้น
"กำลังประเมินมูลค่าหุ้นจากหลายๆ ที่ปรึกษาการเงินที่จะมาจาก 4 ส่วนได้แก่ ที่ปรึกษาของการบินไทย , IFA ที่ประเมินมูลค่าหุ้นให้กับเจ้าหนี้ที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพิ่มเติม, ที่ปรึกษาการเงินจากภาครัฐ และ การประเมินมูลค่าหุ้นจาก PP ที่เรากำลังพูดคุย ตอนนี้ก็อยู่กระบวนการทั้ง4 ที่ปรึกษาเพื่อจะหาตัวเลขที่เป็น Fair Value เพื่อให้ผู้บริหารแผนตัดสินใจว่าจะใช้ราคาหุ้นตัวไหน จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาเดียว"นายชาย กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทก็ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูเพื่อขอลดทุน ศาลล้มละลายได้นัดวันที่ 8 พ.ย.67 โดยจะล้างขาดทุนสะสมเพื่อบริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นใหม่ได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจะทำให้หุ้นการบินไทยน่าสนใจมากขึ้น
ทั้งนี้ กระบวนการการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับทุกกลุ่มจะเสร็จสิ้นในภายใน 31 ธ.ค.67 จากนั้นบริษัทจะเตรียมยื่นออกจากแผนฟื้นฟูที่จะใช้งบการเงินปี 67 ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทจะต้องยื่นงบการเงินงวดปีอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือน ก.พ.68 จากนั้นต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นใหม่หลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นคาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือน เม.ย. 68 หรือไม่เกินกลางเดือนเม.ย.68 เพื่อแต่งตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ เป็นเงื่อนไขหนึ่งของความสำเร็จแผนฟื้นฟูกิจการ
บริษัทคาดว่าจะยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูฯ ในเดือนพ.ค.68 เชื่อว่าศาลจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหรือ 1 เดือนครึ่งในการพิจารณา ไม่น่าจะเกินเดือน มิ.ย.68 และคาดว่หุ้น THAI จะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่งภายในมิ.ย.68
"จากการพูดคุยเจ้าหนี้ ภาครัฐ รวมถึงกระแสสังคมไทย ผมพยายามรับกระแส คำตอบรับหลายๆภาคส่วน ก็ยังไม่มีใครที่จะให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ข้อดี ข้อด้อยข้อเสีย ผมว่าไม่คุ้มกับการที่เราจะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะเราได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว 4 ปีจากการเข้าแผนว่าบริษัทสามารถขับเคลื่อน มีความคล่องตัวมากกว่า มุมมองธุรกิจมากกว่า พนักงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง การทำงานทำได้เร็วขึ้น กล้าตัดสินใจมากขึ้น ผมว่าไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ" นายชาย กล่าว
*เปิดไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุนขยายฝูงบิน-MRO
THAI ระบุว่าจะนำเงินจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไปใช้
1. จัดหาเครื่งบินเพื่อสนับสนุนการขยายเครือข่ายเส้นทางบินรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
2. ปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) โดยมีแผนติดตั้งที่นั่งใหม่ WiFi และสิ่งอำนวยความสะดวกมาตรฐานระดับโลกสำหรับการให้บริการบนเครื่องบิน เป็นต้น เพื่อพัฒนาการบริการบนเครื่องบิน (In-flight services)
3. พัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO Centers) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่สายการบินอื่น ๆ และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน
4. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนเครื่องบิน 77 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้าง 57 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และมีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 59 จุดบินใน 24 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 51 จุดบินในต่างประเทศ และ 8 จุดบินภายในประเทศ
ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 บริษัทมีหนี้สินรวม 310,956.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ตามแผนฟื้นฟูฯ 82,385.1 ล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่า (เช่าเครื่องบิน) รวม 101,232.7 ล้านบาท รวมถึงภาระผูกพันที่ต้องจ่ายในอนาคตตามสัญญาเช่าเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการส่งมอบรวม 1,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาจัดหาเครื่องบินที่อยู่ระหว่างรอการรับมอบ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
*ขยายฝูงบินเติบโตปีละ4%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า บริษัทมองแผนการเติบโตระยะยาวไปแล้ว จากการจัดหาฝูงบินระยะยาว โดยมองว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบอีก 20 ปีข้างหน้า ย้อนกลับไปในปี 61-62 การบินไทยมีเครื่องบิน 103 ลำ ณ วันนั้นเป็นเครื่องบินก็เก่า แต่บริษัทได้ขยายฝูงบินแผนระยะยาว 72 บริษัทจะมีเครื่องบิน 143 ลำ
"เราจะโตจากปี 2019 (2562) ในอีก 10 ปี คือปี 2029 (2572) เติบโตเฉลียปีละ 4% กว่า ซึ่งไม่ได้เยอะเลยถ้าเทียบกับการเติบโตของอุตสาหกรรม และถ้าเราไม่โตจากปัจจุบันแสดงว่าเราถอยหลัง เพราะตลาดโตหมด สายการบินอื่นโตหมด แต่การบินไทยอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นอำนาจการแข่งขันของเราก็จะด้อยลง"
บริษัทมีแผนการจัดหาฝูงบินในระหว่างปี 67-72 โดยสิ้น ปี 67 จะเพิ่มเป็น 79 ลำ (ลำตัวกว้าง 59 ลำ ลำตัวแคบ 20 ลำ) ปี 68 มี 90 ลำ (ลำตัวกว้าง 69 ลำ ลำตัวแคบ 21 ลำ) ปี 69 มี 103 ลำ (ลำตัวกว้าง 67 ลำ ลำตัวแคบ36 ลำ) ปี 70 จำนวน 118 ลำ (ลำตัวกว้าง 73 ลำ ลำตัวแคบ 45 ลำ) ปี71มี 137 ลำ (ลำตัวกว้าง 85 ลำ ลำตัวแคบ 52 ลำ) และปี 72 มีจำนวน 143 ลำ (ลำตัวกว้าง 91 ลำ ลำตัวแคบ 52 ลำ)
บริษัทได้ทำข้อตกลงจัดหาฝูงบินในระยะยาวกับ Boeing เป็นเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่น โบอิ้ง 787 จำนวน 45 ลำ และจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ลำ ตามกรอบระยะเวลารับเครื่องบินระยะยาวตั้งแต่ปี 70-76 โดยคาดว่าจะมีเครื่องบินในปี 76 รวม 150 ลำ (รวมการใช้สิทธิจัดหาเพิ่มเติมบางส่วน)
"ถ้าการบินไทยอยู่กับที่ ทาง Finanical Projection เราไม่มีทางจะหากระแสเงินสดมาชำระให้กับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูถึงแม้เราจะออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว ยังมีภาระที่เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งการบินไทยจะต้องชำระหนี้ไปจนถึงปี 2036 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า รวมจำนวน 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าอยู่ด้วยไซส์เดิม ก็จะไม่มีกระแสเงินสดจ่ายให้กับเจ้าหนี้ได้"