ฝ่ายวิเคราะห์ของกลุ่ม บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (CGSI) เปิดรายงาน "เส้นทางการเติบโตของ Data centre ในอาเซียน" พร้อมกับวิเคราะห์โอกาสและการเติบโตของแต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่จะเติบโตไปพร้อมกับความต้องการ Data centre
จากข้อมูลของ DC Byte ความจุ (capacity) ของศูนย์ข้อมูลหรือ Data centre ในอาเซียนอาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า จาก 1,677MW ในไตรมาส 1/67 เป็น 7,589MW ภายในปี 71 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ต (data usage) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคจากการใช้งานอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตอย่าง แพร่หลาย, ความต้องการการประมวลผลเพื่อรองรับระบบการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ (AI training) และข้อจำกัดด้านพื้นที่และกำลังไฟฟ้าในตลาดหลัก
เราเชื่อว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียจะได้ประโยชน์มากสุดจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นใน Data centre เพราะมีความได้เปรียบด้านที่ตั้ง ซึ่งทำให้ทั้งสองประเทศนี้กลายเป็น gateway ในอุดมคติสำหรับการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าขณะนี้สิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีความจุ Data centre มากที่สุดในอาเซียน แต่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่และพลังงานไฟฟ้า ทำให้ผู้ให้บริการหันไปพิจารณาหาทำเลที่ตั้งในประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์
ขณะที่ DC Bytes ประมาณการว่าความจุ Data centre ในมาเลเซีย, ไทย และอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32-56% CAGR ในปี 66-71 สูงกว่าสิงคโปร์ที่ 8% CAGR นอกจากนี้ เราคาดว่าความต้องการ Data centre ที่เพิ่มขึ้นนอกประเทศสิงคโปร์จะมาจากทั้ง Hyperscaler ระดับโลก (Amazon, Google และ Microsoft) และผู้ให้บริการรับฝาก Server (colocation provider) ที่มีลูกค้าต้องการทรัพยากรการประมวลผลสำหรับการพัฒนาและการใช้งาน AI
เราเชื่อว่าผู้เล่นที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ธุรกิจการก่อสร้าง Data centre เช่นผู้จัดหาอุปกรณ์, เจ้าของอสังหาริมทรัพย์แล ผู้รับเหมาก่อสร้าง จะได้ประโยชน์มากกว่าผู้ให้บริการในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากวงจรการเติบโตของอุตสาหกรรมในขณะนี้ยังมุ่งเน้นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ AI training นอกจากนี้เรามองว่าผลตอบแทนในรูปของกำไรของบริษัทโทรคมนาคมอาจยังไม่สูงนัก แต่ผู้ประกอบการเหล่านี้น่าจะได้ประโยชน์จากเงื่อนไขการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่มากขึ้นตามความจุ Data centre ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น เรามองว่า ในภูมิภาคอาเซียนประเทศไทยยังถือว่าเป็นผู้เล่นที่มีขนาดเล็กในอุตสาหกรรม Data centre เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ ตามข้อมูลของ Cushman & Wakefield ประเทศไทยมี Data centre ทั้งหมด 59 แห่ง รวมความจุ 66MW ณ สิ้นไตรมาส 1/67 นอกจากนี้ไทยยังมี Data centre ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 80MW และอยู่ระหว่างการวางแผนอีก 246MW ขณะที่ DC Byte ประมาณการเชิงรุกว่า Data centre ในไทยอาจมีความจุเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 642MW ภายในปี 67
เราเชื่อว่าไทยมีความต้องการ Data centre ในประเทศสูง เนื่องจากประชากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก จึงส่งผลให้ความต้องการอินเตอร์เน็ตพุ่งสูงขึ้นตาม นอกจากนี้เชื่อว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและพัฒนาต่อเนื่อง เช่น โครงข่ายพลังงานไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และโครงข่ายโทรคมนาคมที่พัฒนาแล้ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายการลงทุนด้าน Data centre ที่น่าสนใจ
ภายใต้นโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ที่มุ่งเป้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ จากเดิมที่พึ่งพิงภาคการผลิตไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เสนอสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรม Data centre ในประเทศไทย ประกอบด้วย การยกเว้นภาษีเป็นเวลา 8 ปีและยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับการจ่ายเงินปันผล, การส่งกำไรกลับประเทศได้ง่ายขึ้น และการปลดล็อคหลักเกณฑ์การถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ Data centre
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไทยจะมีโครงสร้างพื้นฐานโครงข่ายไฟฟ้าและการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่แข็งแกร่ง แต่เราเชื่อว่าไทยยังต้องปรับปรุงอีกหลายด้านเพื่อให้กลายเป็นจุดหมายที่น่าสนใจสำหรับ Data centre เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนากว่าไทยสำหรับการก่อสร้าง Data centre เช่น ไทยมีสถานีสายเคเบิ้ลใต้น้ำ (submarine cables) น้อยกว่ามาเลเซีย ทำให้ไทยสามารถรองรับปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศได้จำกัด จึงอาจไม่น่าสนใจสำหรับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกที่กำลังมองหาการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตประสิทธิภาพสูง
ตามข้อมูลของ Submarine Networks ประเทศไทยมีสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำ 9 แห่ง เทียบกับมาเลเซียที่มี 19 แห่ง เราเชื่อว่าสาเหตุน่าจะเป็นเพราะสภาพภูมิประเทศของไทยไม่เอื้อต่อการวางสายเคเบิ้ลใต้น้ำเท่ากับมาเลเซีย และถึงแม้ว่าไทยจะยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายสายเคเบิ้ลระหว่างประเทศที่สำคัญ แต่ไทยยังขาดศูนย์กลางทางยุทธศาสตร์เหมือนมาเลเซีย
ข้อมูลของ Bloomberg ระบุด้วยว่าไทยได้คะแนนน้อยกว่ามาเลเซียด้านความสะดวกในการขอใบอนุญาต, ความมั่นคงทางพลังงาน และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้ริเริ่มหลายโครงการเพื่อปรับปรุงเรื่องดังกล่าว เช่น รัฐบาลลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตด้วยการขยายโครงข่ายสายเคเบิ้ลใต้น้ำ โดย Asia Direct Cable (ADC) เป็นตัวอย่างของการลงทุนในเรื่องนี้ ซึ่งมุ่งเป้าเพิ่มแบนด์วิธและเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อข้อมูลอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนสำหรับ Data centre เพื่อความยั่งยืน รวมทั้งลด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยปกติแล้ว Data centre ในนิคมอุตสาหกรรมจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูง ซึ่งเราเชื่อว่าพลังงานทดแทนเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้
สำหรับโครงการลงทุนใน Data centre ใหม่ในไทย เช่น Microsoft ในเดือนพ.ค.67 ประกาศทุ่มเงินลงทุนก่อสร้าง Data centre hub ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทวางแผนจะเปิด Data centre ระดับภูมิภาคแห่งแรกเพื่อเพิ่มความสามารถของแพลตฟอร์ม Azure cloud นอกจากนี้ Microsoft ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจพัฒนาทักษะด้าน AI มากกว่า 100,000 คนเพื่อสนับสนุนผู้พัฒนาในท้องถิ่น
GSA เดือนก.พ.67 บมจ.กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) , Singtel และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) ถือหุ้นสัดส่วน 40%, 35% และ 25% ตามลำดับ เพื่อก่อสร้าง hyperscale Data centre แห่งใหม่ใกล้กับกรุงเทพฯ โดย Data centre จะบริหารงานโดยบริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ จำกัด มีกำหนดจะเปิดดำเนินงานในปี 68 ด้วยความจุมากกว่า 20MW
Amazon Web Services (AWS), Google และ Microsoft ในเดือนพ.ย.66 โฆษกรัฐบาลกล่าวว่าประเทศไทยจะได้รับเงินลงทุน 3 แสนล้านบาทจาก Amazon Web Services (AWS), Google และ Microsoft ขณะที่มีรายงานว่า AWS เตรียมจะสร้าง Data centre ในประเทศไทยด้วยงบลงทุน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯภายในระยะเวลา 15 ปี