มองมุมต่าง: SET INDEX สิ้นปีนี้ KPI ของ"พิชัย" และทีมเศรษฐกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 2, 2024 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพแต่ละประเทศทั่วโลก พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือ กระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง

จีนถือเป็นประเทศล่าสุดที่ระดมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งในรูปของหนี้สินส่วนบุคคล หนี้เงินกู้ซื้อบ้านที่อยู่อาศัย หนี้เอกชน ฯลฯ

อีกทั้งยังให้บรรดากองทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกัน สามารถ เพิ่มสภาพคล่องจากแบงก์ชาติจีน (PBOC) เพื่อซื้อหุ้นได้ (Swap Program) จำนวน 5 แสนล้านหยวน รวมถึงการจัดตั้ง Re-lending Program สำหรับบริษัทจดทะเบียน และเจ้าของ เพื่อซื้อหุ้นคืน หรือ เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น 3แสนล้านหยวน

สรุปรัฐบาลจีน ประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ การบริโภคภายในประเทศ และตลาดหุ้น รวมทั้งสิ้น 2 ล้านล้านหยวน สุดท้าย นโยบายที่ประกาศออกมา แม้จะยังไม่ได้เริ่มทำ แต่ตลาดหุ้นจีน ตอบสนอง หลังจากที่มาตรการนี้ชัดเจน

กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย ถ้าหากตัด "ความดื้อดึงของ ธปท.ที่ยังไม่ลดดอกเบี้ย" แถมปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งจนน่าเป็นห่วงต่อภาคการส่งออกนั้น

ตลาดหุ้นไทย ก็มี QE คล้ายตลาดหุ้นต่างประเทศเช่นกัน

โดยเฉพาะการกลับมาของ "กองทุนวายุภักษ์" ที่ได้เห็นเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2567 ที่ "นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง พูดลอยๆ และยังไม่เป็นรูปธรรม" ในงานแถลง "มาตรการขับเคลื่อนตลาดทุน" พร้อมด้วย นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันแถลงข่าวดังกล่าวที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

ระยะเวลาผ่านไปไม่นาน แค่วันที่ 13 ส.ค.2567 ทางกระทรวงการคลัง ได้ประกาศจะขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของ กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง ให้กับผู้ลงทุนทั่วไป และ ผู้ลงทุนสถาบัน

การประกาศทำงานใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดทุนในครั้งนี้ ถือเป็นความสามารถที่ค่อนข้างจะพิเศษที่เรามักไม่ได้เห็นปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นบ่อยนัก และน่าจะสามารถบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยได้เลยว่า

"กระทรวงการคลัง ยุคของนาย พิชัย ชุณหวชิร ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ รวมถึงบรรดาทีมงานบริหารที่ดึงเข้ามาร่วมงาน ทำสิ่งที่ไม่เคยมีรัฐบาลยุคใดทำได้มาก่อน กล่าวคือ สามารถระดมทุน 1.5 แสนล้านบาทเพื่อพลิกฟื้นตลาดทุน ภายในระยะเวลา 1 เดือนเศษๆ แถมเป็นการระดมทุนจากภายในประเทศในยุคที่เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดีนัก"

การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้นผ่านการลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ "ถือเป็นการปักหมุดหมายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น" ของรัฐบาลชุดนี้ เหมือนอย่างที่ประเทศอื่น ๆ เขาทำกัน

เพราะในความเป็นสากลโลก เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการจะผลักดันเศรษฐกิจให้ดีได้ อย่างแรกต้องเริ่มที่ตลาดหุ้นก่อน

ถ้าตลาดหุ้นดี การระดมทุนของภาคเอกชน ไม่ว่าจะอยู่ในตลาดหุ้น หรือ ที่กำลังคิดจะใช้ตลาดทุน เป็นแหล่งระดมทุน จะกลายเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ บนเงื่อนไขที่ไม่ต้องมีต้นทุนทางการเงิน หรือ ดอกเบี้ย เข้ามาเกี่ยวข้อง

เราจึงเห็นภาพที่รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามพยุงตลาดหุ้นในยามที่มีปัญหาและพร้อมที่จะผลักดันในยามที่จะเป็นขาขึ้นในแบบที่เป็นสากล

กลับมาดูความเชื่อมั่นที่ตลาดทุนไทยจะได้รับบ้าง โดยเฉพาะจากทีมงานของรัฐบาลเพื่อไทยที่มีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องตลาดทุน อาทิ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ , นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี , นายศุภวุฒิ สายเชื้อ , นายธงทอง จันทรางศุ และ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา

ล่าสุดปรากฏชื่อ นายวรภัค ธันยาวงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เข้ามาร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาของ รมว.คลัง

ยังไม่นับ นายวราห์ สุจริตกุล ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง และเป็นหนึ่งคณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็อยู่ในเครือข่ายการทำงานครั้งนี้ด้วย

ถือเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถที่เคยเป็นบุคคลกรชั้นนำของตลาดทุนมากที่สุดนับตั้งแต่มีรัฐบาลจากการรัฐประหารเป็นต้นมา

โดยการทำงานของกลุ่มคนของตลาดทุนเหล่านี้ หลายท่านที่มีความคุ้นเคย และเคยร่วมงานกันมาก่อน การเป็นทีมเดียวกันมาก่อน ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป้าหมายการทำงานมีอยู่เพียง เป้าเดียว คือ "ฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ" ไม่ใช่ต้องการความเป็นอิสระ

เนื่องจากสภาพสถานะของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ไม่มีความจำเป็นต้องมี "ความอิสระ" รอให้ทุกอย่างฟื้นตัวแล้วค่อยมาเรียกร้องหาความอิสระที่ปราศจากการครอบงำ ก็ยังไม่สาย

การมาของทีมเศรษฐกิจชุดนี้ แม้จะเป็นการทำงานในลักษณะที่เป็นข้าราชการ แต่ก็มีการบริหารงานแบบ CEO เอกชน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะตัวอย่างของการดึงกองทุนวายุภักษ์ กลับมาอย่างรวดเร็ว และถูกกฎหมาย ไม่ใช่ เรื่องที่คนสามัญธรรมดาทั่วไปจะคิดขึ้นมาเองได้

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมตลาดหุ้นไทยจะต้องปรับตัวขึ้น พร้อมกับแรงสนับสนุนของ กองทุนวายุภักษ์ เพราะทุกสิ่งที่ CEO ทำจะต้องถูกวัดค่า KPI อีกทั้งยังต้องมีขอบเขต หรือกรอบเงื่อนไขของเวลา

SET INDEX ที่ปิดตลาดของวันที่ 30 ก.ย.2567 คือ จุดเริ่มต้นของการวัดผลงาน หรือ KPI ของทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้ ว่าจะสามารถผลักดันไปถึง 1,600 จุด ตามที่ถูกวางเป้าหมายในฝั่งฝัน ได้หรือไม่

เนื่องจาก วันที่ 1 ต.ค.2567 เป็นวันแรกที่กองทุนวายุภักษ์จะเริ่มซื้อหุ้นไทย โดยกรอบเวลาที่จะใช้วัดผลความสำเร็จ คือ ภายใน 30 ธ.ค.2567 หรือ มีเวลา 3 เดือนเต็มก่อนจะจบภายในสิ้นปี

เงื่อนไขของ "ดัชนีตลาดหุ้นไทย" และ "กรอบเวลาที่จำกัด" นี้ จะเป็นตัวชี้วัด "การไปต่อ" หรือ"พอแค่นี้" ของทีมเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การนำของ "นายพิชัย ชุณหวชิร"

จากนี้ไป หวังว่าตลาดหุ้นไทยจะได้รับการรักษาและปกป้อง เหมือนตลาดหุ้นต่างประเทศที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลของตนเองเช่นกัน

ธิติ ภัทรยลรดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ