นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าแกว่งไซด์เวย์ในกรอบ แม้ว่าเมื่อคืนนี้รายงานตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) สหรัฐ จะออกมาสูงกว่าตลาดคาด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการร่างงานของสหรัฐออกมาสูงกว่าคาดเช่นกัน ทำให้เป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนนี้ แต่มองว่าตลาดยังมีเชื่อว่ายังเห็นการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อไป
ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเช้าวันนี้ที่เปิดมาเคลื่อนไหวบวกและลบสลับกัน อีกทั้งยังไม่มีปัจจัยใหม่ ทำให้หลังจากที่ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นเมื่อวานนี้ไปแล้ว วันนี้จะเป็นการแกว่งตัวในกรอบ
โดยให้แนวต้าน 1,475 จุด แนวรับ 1,450 จุด
*ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (10 ต.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,454.12 จุด ลดลง 57.88 จุด หรือ -0.14%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,780.05 จุด ลดลง 11.99 จุด หรือ -0.21% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,282.05 จุด ลดลง 9.57 จุด หรือ -0.05%
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวเปิดที่ระดับ 39,636.87 จุด เพิ่มขึ้น 255.98 จุด หรือ +0.65% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดที่ระดับ 3,287.87 จุด ลดลง 14.06 จุด หรือ -0.43% ส่วนตลาดหุ้นฮ่องกงปิดทำการวันนี้ (11 ต.ค.) เนื่องในเทศกาลเก้าคู่ (Double Ninth Festival)
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (10 ต.ค.) ที่ 1,468.52 จุด เพิ่มขึ้น 11.55 จุด (+0.79%) มูลค่าซื้อขาย 50,477.24 ล้านบาท
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ (10 ต.ค.) 1,653.84 ล้านบาท
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. (10 ต.ค.) เพิ่มขึ้น 2.61 ดอลลาร์ หรือ 3.56% ปิดที่ 75.85 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (10 ต.ค.) อยู่ที่ 1.95 เหรียญ/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 33.43 กลับมาแข็งค่า แนวโน้มแกว่งในกรอบ 33.30-33.55 ก่อนหยุดยาว
- ตลท.ชี้มีโอกาสสูง MSCI ปรับเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยรอบพฤศจิกายนนี้ หากดัชนีทรงตัวในระดับปัจจุบัน ล่าสุดมาร์เก็ตแคป 18.21 ล้านล้านบาท เชื่อฟันด์โฟลว์ไหลเข้าจากปัจจัยบวกในประเทศเพียบ "จีดีพี-กำไรบจ.Q3" โต พบสิงหาคม 2567 ต่างชาติถือครองหุ้นไทยแตะ 30.80% ใกล้เคียงกับช่วงพฤษภาคม 2561 "อัสสเดช คงสิริ" ลุยโรดโชว์ขยายฐานนักลงทุนบุคคลในประเทศ พร้อมหารือบลจ.หนุนตั้งกองทุนใหม่ด้าน ESG
- กบร.ไฟเขียวร่าง ข้อบังคับฯ เพิ่มมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารเที่ยวบินระหว่างประเทศ การปฏิเสธการรับขนผู้โดยสาร พร้อมอนุมัติการออกใบอนุญาตสายการบินเพิ่มเติม 2 ราย
- ม.หอการค้าเปิดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก.ย.ยังลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ซ้ำต่ำสุดรอบ 14 เดือน เหตุประชาชนยังห่วงเศรษฐกิจชะลอตัวปัญหาน้ำท่วม ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟสแรกไม่เข้าเป้า
- "ไทย-กัมพูชา" เปิดเจรจา พื้นที่ทับซ้อนรอบใหม่ เดิมพันแหล่ง ปิโตรเลียมอ่าวไทย "แพทองธาร" ชี้เป็นนโยบายเร่งด่วน เผยแนวคิดเจรจา "เชฟรอน" ผู้รับสัมปทานเดิม 5 แปลง หาทางออกสิทธิสำรวจและผลิต "พลังงาน" หวัง ครม.เร่งตั้งทีมเจรจาชุดใหม่ สศช.หนุนรัฐบาลเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพิ่มความมั่นคงพลังงานให้ไทย
*หุ้นเด่นวันนี้
- AP (กสิกรไทย) ราคาพื้นฐาน 10.90 เรามีมุมมองเชิงบวกต่อ AP ที่เป็น Pure-play housing developer คาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิง Sentiment ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่วงจรดอกเบี้ยขาลง โดยดอกเบี้ยขาลงจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ลูกค้าส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้นได้ โดยเรามองว่า AP จะมีผลประกอบการในไตรมาส 3/67 ที่สามารถเติบโตได้ QoQ นอกจากนี้ Presale ในไตรมาส 3/67 ของ AP คาดจะออกมาเติบโต 15% YoY ซึ่งมาจากการเติบโตของ Presale คอนโดและบ้านแนวราบ ที่เติบโตได้ราว 35% YoY และ 7% YoY ตามลำดับ อีกทั้งเราได้รับมุมมองเชิงบวกจากงาน Property day โดยผู้บริหารยังเชื่อมั่นในการเติบโตทั้งรายได้และกำไรจากการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจะมาจากทั้ง Location ใหม่และ Segment ใหม่สำหรับกลุ่มที่เน้นความคุ้มค่า และลูกค้ากลุ่มบน
- SYNEX (เคจีไอ) เป้าพื้นฐาน 17.2 บาท ประเมิน Sentiment บวกจาก i) เข้าสู่วัฏจักรการเปลี่ยนอุปกรณ์ไอที (คอมพิวเตอร์ โน็ตบุ๊ค สมาร์ทโฟน ฯลฯ) รองรับ AI เริ่มตั้งแต่ปลายปีนี้ ii) รับประโยชน์แนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากเป็นผู้นาเข้าสินค้าไอที iii) วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงของไทย (คาดเริ่มปีหน้า) หนุนกำไร โดยประเมินดอกเบี้ยที่ลดลงทุกๆ 0.25% กำไรของ SYNEX จะเพิ่มขึ้น 2% นอกจากนี้ Valuation ยังมี Upside Forward PE บนประมาณการปี 2568 = 20.9 เท่า คิดเป็นราว +0.5 S.D. ขณะที่คาดอุตสาหกรรมฯ กำลังเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นรอบใหม่
- BCH (ลิเบอเรเตอร์) ราคาเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 23.90 บาท ราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาคาดตอบรับปัจจัยความกังวลต่างๆ ไปมากแล้ว ขณะที่ในช่วงถัดไปคาดปลดล็อกในเชิงบวก จากทั้งประเด็นคูเวต ที่เชื่อว่ามีโอกาสจะได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 โรงพยาบาลที่คูเวตจะส่งผู้ป่วยมารักษา เนื่องจากมีความโดดเด่นด้านโรคเบาหวาน ผสานกับประเด็นประกันสังคม ที่ล่าสุดมีการตั้งอนุกรรมการฯ (เฉพาะกิจ) เพื่อทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ โดยจะต้องเสร็จสิ้นใน 90 วัน โดยคาดจะจบในเชิงบวก