INTERVIEW: AAV เทคออฟรับ 3 ปีทองท่องเที่ยวไทย นักท่องเที่ยวจีน-อินเดียพุ่งแรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 11, 2024 18:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจการบินฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการเดินทางและท่องเที่ยว สายการบินไทยแอร์เอเชียกลับมาทำการบินแล้ว 95% และปีหน้าคาดจะจำนวนผู้โดยสารจะโตได้มากกว่าช่วงก่อนโควิดปี 62 จากนี้ไป "ไทยแอร์เอเชีย" จะวางแผนเติบโตอย่างไร?

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) และสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ปีนี้จำนวนผู้โดยสารของไทยแอร์เอเชียคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20-21 ล้านคน และปีหน้าน่าจะแซงปี 62 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 22-23 ล้านคน

ขณะที่รายได้รวมของ AAV ปีนี้คาดว่าจะเติบโตเป็น 5 หมื่นล้านบาททำสถิติสูงสุดของบริษัท โดนสูงกว่าเมื่อปี 62 ที่มีรายได้ 4.1 หมื่นล้านบาท และปี 66 ที่มีรายได้ 4.3 หมื่นล้านบาท เป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามราคาตั๋วโดยสารเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อมาร์จิ้นไม่ได้สูงตาม ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 67 บริษัทมีผลขาดทุน 325 ล้านบาท จากรายได้รวม 2.7 หมื่นล้านบาท

"ไทยแอร์เอเชียจะไม่ลงไปเล่นสงครามราคาอีกแล้ว เพราะสายการบินมีต้นทุนสูงขึ้น และตอนนี้ไทยแอร์เอเชียยังมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศอันดับหนึ่ง โดยในไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 39%"นายธรรศพลฐ์ กล่าว

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจการบินจะกลับมา 80% ในปีนี้ และ 100% ในปี 68 มองภาพใน 3 ปีข้างหน้าธุรกิจท่องเที่ยวไทยเติบโตขึ้น จากนักท่องเที่ยวจีนคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาใน 1-2 ปีนี้ และนักท่องเที่ยวอินเดียก็ยังคงเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ซัพพลายเครื่องบินในตลาดยังมีไม่มาก เครื่องบินเก่าที่จอดไว้นานในช่วงโควิดต้องนำกลับมาซ่อมบำรุงก่อนนำกลับมาบิน ซึ่งต้องใช้เวลา

"ถามว่าในอีก 3 ปียังดีไหม ผมเชื่อว่าอินเดียยังโตได้อีกเยอะในอีก 3 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าจีนน่าจะฟื้นภายในอีก 1-2 ปี เพราะฉะนั้นเราจะได้อานิสงส์จากจีนและอินเดียใน 3 ปีข้างหน้าอย่างแรง 3 ปีข้างหน้าจะเป็นความแข็งแรงของการท่องเที่ยว"นายธรรศพลฐ์ กล่าว

*แผนขยายฝูงบินเป็น 80 ลำใน 4 ปี

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า AAV ตั้งเป้าหมายการเติบโตของไทยแอร์เอเชียปีละ 15-20% ทั้งในแง่รายได้และจำนวผู้โดยสาร จึงได้วางแผนขยายฝูงบินอย่างต่อเนื่อง จากสิ้นปี 67 จะมีเครื่องบินรวม 60 ลำ และมีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่อีกอย่างน้อยปีละ 5 ลำ ในอีก 4 ปี ซึ่งจะทำให้ปี 71 มีเครื่องบินเพิ่มเป็น 80 ลำ เพื่อรองรับกับการเติบโตของผู้โดยสารทั้งจากอินเดียและจีนเป็นหลัก

นอกจากนั้น เครื่องบินบางส่วนจะใช้รองรับการเปิดจุดบินใหม่ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่มองไว้อีกหลายเมือง และยังมีแผนเปิดเส้นทางใหม่ในเมืองรองที่สามารถเชื่อมต่อเที่ยงบินระหว่างประเทศ โดยเห็นว่าสนามบินภูมิภาคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2-3 แห่งมีศักยภาพที่จะปรับเป็นสนามบินนานาชาติได้ อาทิ อุดรธานี ขอนแก่น บุรีรัมย์ เป็นต้น

*ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ออกจากแผนฟื้นฟู้ต้นปี 68

ส่วนสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ นายธรรมศพลฐ์ เชื่อว่า ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ สามารถออกจากแผนฟื้นฟูฯได้ในต้นปี 68 เพราะชำระหนี้ใกล้ครบหมดแล้ว หลังจากแฮร์คัทหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท เหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท สิ้นปีนี้น่าจะจ่ายได้ทั้งหมด

ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ จะเพิ่มทุนราว 1,000 ล้านบาทในช่วงปลายปี 67 หรืออย่างช้าต้นปี 68 เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) แต่ส่วนของผู้ถือหุ้นยังติดลบอยู่แต่จะลดลงจากช่วงปลายปี 67 ที่คาดว่าส่วนผู้ถือหุ้นจะติดลบราว 9 พันล้านบาท และเงินเพิ่มทุนจะนำเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท

ทั้งนี้ นายธรรศพลฐ์ ถือหุ้นใหญ่ในไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ 49.6% และแอร์เอเชียเอ็กซ์ มาเลเซียถือ 49% ส่วนที่เหลือ 1.4% เป็นผู้ถือหุ้นไทยรายอื่นอีก 4 คน

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า เมื่อออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ จะกลับมาเติบโต หลังจากประคองตัวในช่วงแผนฟื้นฟู โดยปัจจุบันมีเครื่องบิน 11 ลำ และปี 68 จะเพิ่มเข้ามาอีก 3 ลำ หลังจากนั้นจะขยายฝูงบินปีละ 4-5 ลำ และจะเพิ่มเป็น 30 ลำในอีก 5-6 ปี (ปี 72-73) โฟกัสเส้นทาง จีน อินเดีย และ ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเส้นทางที่บินไกลกว่าไทยแอร์เอเชีย โดยปีหน้าจะเปิดจุดบินใหม่ในญี่ปุ่นอีก 2-3 เมือง

ในปี 67 ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์คาดจะมีจำนวนผู้โดยสาร 1.8 ล้านคน ไม่ถึง 2 ล้านคนที่เคยตั้งเป้าไว้ต้นปี 67 เพราะนักท่องเที่ยวจีนชะลอไป

เมื่อ 1 ต.ค. 67 ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ได้ย้ายฐานบินจากสุวรรณภูมิมาที่ดอนเมืองเช่นเดียวกับไทยแอร์เอเชีย ทำให้การเชื่อมต่อเครื่องของผู้โดยสารทำได้สะดวกขึ้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเชื่อมต่อกันเพิ่มเป็นราว 25-30% จากขณะนี้อยู่ที่ 12% ทำให้ทั้ง 2 สายการบินได้รับอานิสงส์ นอกจากนี้ การรวมฐานการบินยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของทั้งสองบริษัท ส่งผลดีต่อผลประกอบการ

เบื้องต้นไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์จะกลับมาบินกรุงเทพ-ซิดนีย์ วันที่ 1 ธ.ค.67 , ฮาร์บิน เปิดบินปลายธ.ค. ซึ่งจะเป็นการเปิดชั่วคราว (แบบเช่าเหมาลำ) รับเทศกาลน้ำแข็ง ช่วง 3 เดือน และปีหน้าจะเปิดจุดบินใหม่ในญี่ปุ่นอีก 2 เมือง อินเดีย 1 เมืองคือ นิวเดลี และเมืองอัลมาตี ประเทศคาซัคสถาน

*ปฏิเสธข่าวลือควบรวมกัน ชี้ไม่ได้ประโยชน์

นายธรรศพลฐ์ ปฏิเสธข่าวลือว่า ไทยแอร์เอเชีย มีแผนจะควบรวมกับ ไทยเอร์เอเชีย เอ็กซ์ โดยยืนยันว่าไม่มีแนวคิดควบรวมกัน เพราะการควบรวมอาจทำให้สายการบินหนึ่งเสียประโยชน์ อีกสายได้ประโยชน์ เพราะแต่ละสายการบินได้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) และตารางบิน (Slot) แตกต่างกัน โดยไทยแอร์เอเชียมีรหัสสายการบินคือ FD ส่วนไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ใช้รหัสสายการบิน XJ

แต่ละสายการบินไม่สามารถโอนสิทธิการบินให้กันได้ ต้องคืนกลับไปที่ผู้อนุญาตก่อน แล้วไปยื่นขอใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้การันตีว่าจะ slot เดิม หรือเวลาบินเดิมในแต่ละประเทศหรือไม่ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางธุรกิจ

https://youtu.be/hg3wQDHH1l4


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ