NOK ปักหมุดออกจากแผนฟื้นฟูสิ้นก.ย.69 กลับมาเทรดใน Q4/69 เล็งเพิ่มฐานบินสุวรรณภูมิรับผดส.ต่อจากTHAI

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 14, 2024 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

NOK ปักหมุดออกจากแผนฟื้นฟูสิ้นก.ย.69 กลับมาเทรดใน Q4/69 เล็งเพิ่มฐานบินสุวรรณภูมิรับผดส.ต่อจากTHAI
นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยว่า จากวิกฤตโควิด-19 สายการบินนกแอร์ก็เผชิญปัญหาธุรกิจจนต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อ 29 ก.ย.64 และในปัจจุบันสถานการณ์ของธุรกิจการบินกลับมาดีขึ้น โดยสายการบินนกแอร์ก็มีผลประกอบการดีขึ้นตามลำดับ โดยในช่วงครึ่งปีแรกปี 67 มีรายได้รวม 3.9 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิ 734.78 ล้านบาท และมั่นใจทั้งปี 67 จะพลิกมีกำไรครั้งแรกหลังวิกฤตโควิด-19

สายการบินนกแอร์ ได้วางเป้าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในวันที่ 30 ก.ย. 69 โดยมีแผนเพิ่มทุน 5 พันล้านบาท หลังจากนั้นคาดว่าจะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ในไตรมาส 4/69 ทั้งนี้ ราคาหุ้น NOK สุดท้ายอยู่ที่ 1.04 บาท โดยปัจจุบันบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน

NOK ปักหมุดออกจากแผนฟื้นฟูสิ้นก.ย.69 กลับมาเทรดใน Q4/69 เล็งเพิ่มฐานบินสุวรรณภูมิรับผดส.ต่อจากTHAI

ทั้งนี้ เงินเพิ่มทุนจะนำใช้คืนหนี้จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวน 2,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มจุฬางกูร ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยปัจจุบันกลุ่มจุฬางกูรถือหุ้นใหญ่ 75% และนำไปใช้ในการจัดหาเครื่องบิน ส่วนหุ้นเพิ่มทุนยังไม่ชัดเจนว่าจะเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม หรือ PP และไม่มีแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งก็ต้องหารือกับผู้ถือหุ้นที่ให้กู้เงิน เพราะท้ายสุดแล้ว เงินที่เพิ่มทุนก็ไปชำระหนี้บางส่วน

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 67 คาดว่าผลประกอบการยังดีต่อเนื่อง และเงินบาทแข็งค่า ช่วยทำให้รายจ่ายในรูปเงินสกุลดอลลาร์ที่มีสัดส่วน 60-70% ลดลง ขณะที่ราคาน้ำมันจากต้นปี 67 ปรับขึ้นราว 20% ปัจจุบันบริษัทได้ลดการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไว้ 10-25%ของปริมาณที่ใช้ ช่วง 3 เดือน.และได้จองซื้อน้ำมันล่วงหน้าเพื่อล็อกราคาน้ำมันไว้ในช่วง 3 เดือน เพราะดูแนวโน้มราคาน้ำมันน่าจะปรับขึ้น โดยล็อกไว้ไม่เกิน 50% ของปริมาณการใช้น้ำมัน

"ปีนี้เราวาง plan ไว้ว่าผลประกอบการจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้วแน่นอน เนื่องจากว่าปัจจัยหลัก ค่าน้ำมันสูงขึ้นก็จริง แต่ค่าเงินบาทแข็งช่วยสายการบินนกแอร์อย่างมาก เพราะว่าสายการบินนกแอร์ รายจ่าย 60-70% อิงเงินสกุลดอลลาร์ทั้งหมด แต่เวลาเรารับเงินเข้ามาเป็นเงินบาท ฉะนั้น บาทแข็งนกแอร์ได้เงินเยอะ ฉะนั้น เงินบาทที่แข็งค่าในไตรมาส 3 ไตรมาส 4ส่งผลดีสายการบินนกแอร์"นายวุฒิภูมิกล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 67 รายได้จะอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านบาททรงตัวจากปี 66 ที่ 8.7 พันล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะมีรายได้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเริ่มจะนำเครื่องบินที่จอดซ่อมมาใช้งานได้อีก 3 ลำ และพลิกมีกำไรครั้งแรกหลังวิกฤตโควิด-19 จากที่มีอัตราการใช้เครื่องบินสูงขึ้น จากที่บินไปจีน อินเดียและญี่ปุ่น สลับกับเส้นทางในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเปิดเส้นทางบินใหม่ อย่างไรก็ดี ในปลายปีอาจจะได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายจากการซ่อมบำรุงใหญ่ และจัดซื้อเครื่องยนต์ใหม่ ที่มีวงเงินรวมมากกว่า 1 พันล้านบาท โดยในปี 67 คาดจำนวนผู้โดยสารมีจำนวน 4 ล้านคน

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า ในไตรมาส 4/67 สายการบินนกแอร์ เปิดจุดบินใหม่อย่างน้อย 2 เมือง ได้แก่ มุมไบ (อินเดีย) จะเริ่มทำการบิน 27 ต.ค.นี้ ญี่ปุ่น 1 เมือง แต่ไม่ใช่เมืองฮิโรขิมาที่เคยเปิดไปก่อนโควิด ส่วนจีน ตั้งเป้าเปิดบิน 4 เมือง อย่างไรก็ดี การเปิดจุดบินใหม่ในจีนอาจไม่ได้ตามเป้าเพราะทางการจีนสนับสนุนให้ท่องเที่ยวในประเทศมากกว่า ซึ่งก็สร้างความกังวลใจในตลาดจีน ก็ต้องขอดูสถานการณ์ก่อน โดยปัจจุบันมีจุดบินที่จีน 3 เมืองได้แก่ หนานหนิง เจิ้งโจว เฉิงตู

สำหรับจุดบินในประเทศ นกแอร์ก็งดทำการบินในจังหวัดที่มีการแข่งขันสูง ได้แก่ ร้อยเอ็ด นครพนม เลย ระนอง

ขณะเดียวกัน สายการบินนกแอร์ได้จัดหาเครื่องบินเข้ามาเสริมทัพในช่วงไตรมาส 4/67 โดยหลังจากเข้าแผนฟื้นฟูฯบริษัทได้ปลดระวางเครื่องบิน ATR และ เครื่องบินใบพัด Q400 รวมจำนวน 10 ลำ และเหลือเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 อยู่ 14 ลำ แต่ปัจจุบันมีเครื่องบินใช้ดำเนินการอยู่ 8 ลำ ในปลายปีจะนำเครื่องบินที่นำไปซ่อมบำรุงที่ใช้เวลานานจาก 4 เดือน ไป 6-8 เดือน ซึ่งบริษัทใช้แนวทางซื้อเครื่องยนต์ใหม่ใส่เข้าไปแทนที่จะซ่อม เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการนำเครื่องบินกลับมาใช้ในช่วงไตรมาส 4/67 ซึ่งเป็น่ช่วงไฮซีซั่น ก็จะมีจำนวนเครื่องบินใช้ดำเนินการในต.ค.นี้จะมีจำนวน 11 ลำ และจะเช่าเครื่องบินใช้ทำการบินชั่วคราว 6 เดือน (พ.ย.67-เม.ย.68) อีก 2 ลำ

โดยจะเน้นเส้นทางต่างประเทศมากขึ้นเพิ่มความถี่เส้นทางอินเดีย และจีน ก็จะทำให้อัตราการใช้เครื่องบินสูงขึ้นโดยตั้งเป้าไว้ที่ 12 ชม./วัน/ลำในปีนี้จากปีก่อน 10.5 ชม./วัน/ลำ

นอกจากนี้จะแก้ไข Pian point เรื่องดีเลย์ จะเห็นได้จากในเดือนต.ค.นี้ นกแอร์ มี Ontime Performance มากกว่า 90% ซึ่งเทียบกับมาตรฐานระดับโลกอยู่ที่ 85% เนื่องจากเรามีเครื่องบินสำรองไว้ โดยลดทำการบินของเครื่องบินแต่ละลำเหลือ 6 เที่ยว/วัน จากเดิม 8 เที่ยว/วัน

*วางแผนโตต่อปี 68-69 พร้อมจับมือ THAI รับช่วงผดส.ที่สุวรรณภูมิ

นายวุฒภูมิ กล่าวว่า ธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง บริษัทจึงคาดว่าในปี 68 รายได้เติบโตอย่างน้อย 20% ขึ้นมาแตะ 1 หมื่นล้านบาท และปี 69 รายได้กระโดดขึ้นมาเป็น 1.5หมื่นล้านบาท โดยในปี 68 คาดหวังว่าจะมีเครื่องบินกลับมาทำการบินอีก 6 ลำ หรืออย่างน้อย 2 ลำ และเช่าเครื่องชั่วคราวอีก 2 ลำ

นอกจากนี้ นกแอร์ได้สั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง 737Max-8 จำนวน 6 ลำ ซึ่งได้วางเงินดาวน์แล้ว 200 กว่าล้านบาท รอคิวผลิตและส่งมอบในอีก 4-5 ปี ซึ่งเครื่องบินล็อตนี้จะขายให้ผู้เช่าและนกแอร์กลับไปเช่าต่อ

นายวุฒิภูมิ กล่าวว่า สายการบินนกแอร์ยังได้จับมือกับพาร์ทเนอร์กับสายการบินต่างๆ ที่บินอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เช่น สายการบินไทย (THAI) สายการบินต่างชาติ โดยเฉพาะการบินไทย นกแอร์จะเป็น Connecting Flight ให้กับสายการบินไทยได้ ทั้งนี้ THAI ยังถือหุ้น NOK อยู่ราว 10% โดยสายการบินนกแอร์จะเพิ่มฐานการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ และมีแผนเพิ่มเครื่องบินใหม่ไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รองรับภายในประเทศและต่างประเทศ

"Positioning ของนกแอร์ ก็ยังคงเป็น Premium Budjet Airline ที่เราจะเน้นเรื่องของคุณภาพการบริการ และราคา ให้คนไทยจับต้องได้ เข้าถึงได้ง่าย เพราะสายการบินนกแอร์ทำเพื่อคนไทย ในปีนี้มีProduct เพิ่มขึ้น โดยการเสนอขายแพกเกจ จะเพิ่มออปชั่นว่าหากผู้โดยสารเกิดป่วยกระทันหันสามารถเลื่อนวันเดินทางได้ฟรี หรือ ติดโควิด หรือเกิดอุบัติเหตุกระทันหัน เปลี่ยนวันเดินทางได้ฟรี รวมถึงจะชูจุดแข็ง ทำให้ เบาะที่นั่งกว้างกว่าเดิม เพราะตอนนี้มีชาวต่างชาติเป็นผู้โดยสารด้วย"นายวุฒิภูมิกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ