ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อย รายงานกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนปี 2567 จำนวน 34,807 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4.4% จากการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคารและอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่เพิ่มขึ้นตามภาวะอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 3.05%
ส่วนในไตรมาส 3/2567 มีกำไรสุทธิ จำนวน 12,476 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 5.7%และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 9.9% โดยมีรายไดด้อกเบี้ยสุทธิอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันปีก่อน รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม
สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากรายได้จากการลงทุนตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายทางการตลาด โดยที่ธนาคารยังคงรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 46.3%
ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 3 ปี 2567 ธนาคารจึงตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง ส่งผลให้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสำหรับ 9 เดือนปี 2567 มีจำนวน 27,204 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,638,697 ล้านบาท ลดลง 1.2% จากสิ้นปีก่อน โดยสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ยังคงมีการเติบโต สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.4% ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 266.6% เป็นผลจากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 จำนวน 3,109,982 ล้านบาท ลดลง 2.3%จากสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.8% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 20.8% , 17.4% และ 16.6% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ในไตรมาส 3 ปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ การส่งออกของไทยที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้า และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งออก และการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลกระทบจากน้ำท่วม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่สำคัญต่อการจัดหาพลังงานโลก และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางขยายตัว แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นความท้าทายหรืออาจเป็นโอกาสทางธุรกิจ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อบริบทโลกให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎเกณฑ์ของทางการ ตลอดจนความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่