นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนี SET ในเดือน ต.ค.67 เพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 16% จากเดือนต.ค.66 โดยที่สัดส่วนนักลงทุนในประเทศและสถาบัน มีสัดส่วนเกินกว่า 50% เป็นเดือนที่ 3 ซึ่งนักลงทุนสถาบัน ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม กองทุนรวม กองทุนวายุภักษ์ ที่ต่างกลับมา Active ขณะที่ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 27,968 ล้านบาทในต.ค.67 และตั้งแต่ต้นปี-ต.ค.67 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 122,757 ล้านบาท
ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยบวก อาทิ การเมืองไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้นหลังมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่รายงานออกมาเข้มแข็งกว่าที่นักวิเคราะห์คาด รวมถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนผ่านการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ ทำให้ผู้ลงทุนสถาบันในประเทศพลิกกลับมาซื้อหุ้นไทยในเดือนตุลาคมสูงสุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563
นอกจากนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี อย่างไรก็ดี SET Index ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2 เดือนต่อเนื่อง ขณะที่ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอีก 12 เดือนข้างหน้าถูกนักวิเคราะห์ปรับลดลง ทำให้ Valuation ในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างตึงตัว
ณ สิ้นเดือนตุลาคม SET Index ปิดที่ 1,466.04 จุด เพิ่มขึ้น 1.2% จากสิ้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ทำให้เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.5%
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 มีเพียงกลุ่มเดียว ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 54,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,332 ล้านบาท ลดลง 14.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 3 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) บมจ. เมดีซ กรุ๊ป (MEDEZE) บมจ. ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล (TMAN) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย (TATG)
Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 16.1 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.9 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 17.8 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.7 เท่า
อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 3.23% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.10%
ส่วนภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เดือนตุลาคม 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 509,144 สัญญา ลดลง 28.0% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures และ Single Stock Futures และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 478,270 สัญญา ลดลง 12.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ Single Stock Futures และ SET50 Index Futures