ภาพจินตนาการของนักลงทุนบางกลุ่มที่ว่า 'หุ้นไอพีโอที่เข้ามามักจะมีเจตนาที่ต้องการ "Exit" ทุกบริษัท' หรือต้องการขายธุรกิจที่เป็นกิจการทำมาก่อนหน้านี้ออกไปนั้น อาจจะไม่ถูกต้องนัก อาจจะมองว่าตลาดหุ้นมีตลาดรอง (Secondary Market) จึงนำมาจับโยงว่าจะมีการออกของ (Exit) โดยที่อาจจะมองข้ามมุมมองของการสร้างความมั่งคั่ง หรือแชร์อนาคตของกิจการใดกิจการหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
โดยเราจะเห็นการใช้ทฤษฎีที่เป็นหลักฐานทางอารมณ์หรือความรู้สึก (Emotion) มากกว่าการใช้หลักสถิติหรือ STAT (Statistics)
ทั้งนี้ เราได้เห็นการยกตัวอย่างของรายชื่อหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนที่เกิดความเสียหายจากการดำเนินธุรกิจที่อาจจะมาจากเงื่อนไขเศรษฐกิจ, การถูก disrupt ด้วยตัวของมันเอง, ความถดถอยของดีมานด์ที่เป็นภาพรวมในอุตสาหกรรม หรือแม้แต่การแข่งขันของราคากับคู่แข่ง
อีกทั้งยังมีเรื่องของการบริหารจัดการภายในองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพ, ขาดวิสัยทัศน์, มีความเป็นกงสีมากเกินไป ฯลฯ จนทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย, ขาดทุน, จนราคาหุ้นปรับตัวลงมา สร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อย
สิ่งเหล่านี้จะเรียกว่าเจ้าของหรือผู้ก่อตั้งต้องการจะ 'Exit' ก็คงเป็นการกล่าวเหมารวมที่อาจจะไม่ถูกต้องนัก
ยิ่งบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นมานานกว่า 10 ปี แล้วบอกเจ้าของเข้าตลาดเพื่อ 'Exit' ก็คงไม่น่าใช่ เพราะมันนานเกินไปที่จะมีการวางแผนยาวขนาดนั้น
เพราะในระหว่างทางของการทำธุรกิจ มันเป็นเรื่องปกติที่จะมีคำว่า 'ไปต่อไม่ไหว' หรือ 'สู้ไม่ไหว' ต้องยอมแพ้
เพราะคลื่นเศรษฐกิจโลก-ในประเทศ การแข่งขันระหว่างคู่แข่งรวมถึงการถูก disrupt ก็ถือเป็นอุปสรรคที่บังคับให้เจ้าของต้องสละเรือด้วยความจำเป็นหรือจำใจ
ส่วนการตกแต่งงบการเงินของบางบริษัท เคสเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่กว่าการ 'Exit'
นั่นคือ 'การโกง' ส่วนความตั้งใจจะมีมาตั้งแต่เริ่มต้นหรือไม่ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่พอมาถึงจังหวะที่ต้องมีการสร้างภาพความแข็งแรงของบริษัทให้ดำเนินต่อไป ซึ่งจะเอามาเหมารวมว่า 'Exit' คงไม่ได้ เพราะมันคือเรื่องของการกระทำผิดกฎหมาย
หลักใหญ่ใจความสำคัญของการดูว่า 'เจ้าของ' รายใดมีเจตนานำหุ้นไอพีโอเข้าตลาดมาแล้วต้องการ 'Exit' น่าจะดูได้ภายใน 3 ปีแรกจากโครงสร้างการถือหุ้นเป็นหลัก
โดยให้ดูโครงสร้างของผู้ถือหุ้นใหญ่ นับจากหลังขายหุ้นไอพีโอผ่านไปไม่เกิน 3 ปี ในระหว่างทางมีการทยอยเทขายหุ้นออกมา จนมีการเปลี่ยนเกิน 30% แบบนี้ถือว่ามีเจตนาเข้าข่าย 'Exit'
กล่าวคือ การลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเกิน 30% เจตนาที่เข้าข่ายแบบนี้มีความเป็นไปได้ที่จะถูกมองเป็นการ 'Exit'
เนื่องจาก 'เจ้าของ' หรืออีกนัยหนึ่งที่มีการเปรียบเทียบคือ 'สุนัขล่าเนื้อ' ถ้าหากอิ่มท้องแล้ว จะทำให้ไม่ 'ขยัน' ที่จะทำให้บริษัทเติบโต โดยจะมีแนวทางการทยอยขายหุ้นผ่านรายการ Big lot ในกระดานใหญ่ ปีละหลายครั้ง
การลดสัดส่วนการถือหุ้นเปลี่ยนเป็นเงินสดเข้ากระเป๋าแล้ว อาจจะทำให้ 'เจ้าของ' ไม่มีความกระตือรือร้น หรือขาดแรงบันดาลใจ ซึ่งตรงกับพฤติกรรมของ 'สุนัขล่าเนื้อ เมื่อกินอิ่มก็จะหยุดล่า'
แต่ทั้งนี้ การลดสัดส่วนการถือหุ้นภายในระยะเวลา 3 ปีแรก แต่ยังมีแนวโน้มของการเติบโตของกำไรสุทธิในบริษัท และมีการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีการดึงผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารแทนเจ้าของเดิม ก็อาจจะเป็นข้อยกเว้น ถ้าหากเจ้าของเหล่านั้นมีจริยธรรมในตนเอง
ในกรณีถ้าเป็นการขายหุ้นตั้งแต่ 5-10 % ภายในระยะเวลา 3 ปี แบบนี้ไม่เรียก 'Exit' เพราะโครงสร้างการถือหุ้นเกิน 50% ยังถูกแชร์อยู่กับเจ้าของเป็นส่วนใหญ่ (ไม่ว่าผลประกอบการจะเป็นเชิงบวก หรือเชิงลบ)
แม้แต่เจ้าของจะเอาหุ้นเดิมมาขายพ่วงในไอพีโอ หากมีจำนวนไม่มากกว่าการระดมทุนผ่านการทำไอพีโอ ก็ไม่ถือเป็นการ 'Exit' เพราะอาจจะมีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิมภายใน ทั้งในส่วนของพันมิตร หรือ Family
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ว่ามีเจ้าของบริษัทจำนวนไม่น้อยที่จำใจลดสัดส่วนการถือหุ้นของตนเองลง เพื่อนำไปใช้เกื้อหนุนให้กิจการของบริษัทเกิดการต่อยอด มีการเติบโต สร้างผลกำไรต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องนอกเคสของการ 'Exit'
นอกจากนี้ อาจจะมีข้อยกเว้นของการลดสัดส่วนการถือหุ้นลงแบบมีนัยสำคัญ ในกรณีที่มีการขายหุ้นให้กับ Strategic Partner เพื่อไปต่อยอดธุรกิจ อาทิ กรณีที่เกิดขึ้นกับหุ้นหลายๆตัวที่กลุ่มของเสี่ยเจริญ ต้องการเข้ามาถือครองหุ้นใหญ่ ส่วนหุ้นรายตัวมี DITTO=NETBAY-TEAMG, SCC=GLOBAL, JMART=SINGER ,BTS=PLANB ฯลฯ
อีกทั้งยังมีหุ้นอีกเป็นจำนวนมากที่เจ้าของยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้น และมีความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจที่ชัดเจน และตั้งใจให้เป็น Family Holding สืบทอดต่อไปอีกหลายรุ่น อาทิ หุ้น AURA-RBF-ILM-BTG ฯลฯ
สำหรับวัตถุประสงค์ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้ามาระดมทุนก็มีความแตกต่างกัน แต่หลักสำคัญและบริษัทส่วนใหญ่ที่ไอพีโอก็เพื่อสร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยอาศัยตลาดทุนในการสร้างการเติบโตให้เกิดขึ้น
การมีแหล่งเงินทุนระยะยาว ที่ไม่ใช่แค่เงินกู้ยืม มีทั้งการออกตราสารทุนและการร่วมทุน อาทิ MTC-SAWAD-JMART Group-CHAYO- A5 -DUSIT-MINT-TRUE-BTS ฯลฯ
การสร้างบริษัทให้มีระบบควบคุมภายในที่ดีและมีธรรมมาภิบาล โดยมีบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากเข้าร่วมสัมนาเกี่ยวกับระบบควบคุมภายในที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ อาทิ MASTER ฯลฯ
การบริหารงานแบบมืออาชีพมากขึ้นและดึงดูดมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน ใช้ผู้บริหารมืออาชีพบริหารงาน อาทิ CMAN-UVAN-DUSIT-SFLEX-ADVANC-ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกระดับธุรกิจให้มีความแข็งแรง สามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน อาทิ CIVIL-NAT-CPANEL ฯลฯ
สร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ อาทิ SCGJWD เป็นการร่วมทุนเพื่อโอกาสทางธุรกิจ, ATP30 ร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาระบบการเดินรถ และขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ฯลฯ
การสร้างองค์กรที่ยั่งยืน อย่าง OSP-CH-BGRIM-SCC บริษัทที่มีอายุร่วม 100 ปี และอยากให้เกิดความมั่นคงต่อไปอีก
หุ้นที่กล่าวมา หลายบริษัทก็เป็นไปในทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับก่อนเข้าตลาด และไม่ได้มีการ Exit แต่อย่างใด
ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่นักลงทุนมักจะสนใจธุรกิจที่เติบโตมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าราคาหุ้นก็ต้องมีความผันผวนตามการเติบโตไปด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุด นักลงทุนควรเข้าใจลักษณะธุรกิจและความเสี่ยงด้านการลงทุน ไม่ใช่ไปตามแรงเชียร์อย่างเดียว เพราะหุ้นหลายบริษัทที่ดีมีความมั่นคง กำไรและปันผลสม่ำเสมอมีเป็นจำนวนมากแต่ราคาหุ้นก็จะไม่หวือหวา หรือเร้าใจ เหมือนกับหุ้นที่หวือหวาซึ่งอาจมีความเสี่ยงสูงตามมาหากไม่ทันเกม เพราะการลงทุนในตลาดหุ้น ล้วนมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนทุกคนรับรู้กันอยู่แล้ว
ส่วนการจะประสบความสำเร็จในตลาดหุ้นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับภูมิความรู้ ความสามารถในการใช้วิจารณญาณในการตัดสินเลือกหรือไม่เลือกลงทุนหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง
แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นว่า 'คนเล่นหุ้นอยากเป็นเจ้าของกิจการ' ส่วน 'เจ้าของกิจการอยากมาเล่นหุ้น' เลยทำให้กลไกหลายอย่างมันเพี้ยนไปหมด
ธิติ ภัทรยลรดี