บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 3/67 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้ขายและบริการ 176,131 ล้านบาท ลดลง 7,858 ล้านบาท (-4.3%) จากไตรมาสก่อนหน้า ปรับลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยไตรมาสนี้รายได้ขายและบริการของกลุ่มธุรกิจ Mobility ลดลง 3.9% ตามราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากกลุ่มน้ำมันอากาศยาน และดีเซล
กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ลดลง 0.4% จากธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ ตามปัจจัยฤดูกาล กลุ่มธุรกิจ Global ปรับลดลง 16.8% ตามราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งปริมาณจำหน่ายที่ลดลงในประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว ตามปัจจัย ฤดูกาลเช่นกัน
ในไตรมาส 3/67 มี EBITDA จำนวน 1,763 ล้านบาท ลดลง 3,080 ล้านบาท (-63.6%) เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/67 โดยลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจกลุ่มธุรกิจ Mobility จากภาพรวมกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่อ่อนตัวลงตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาด กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ลดลง โดยหลักจากการยุติธุรกิจเท็กซัส ชิคเก้น ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น (Extra item) กลุ่มธุรกิจ Global ลดลงตามภาพรวมกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่อ่อนตัวลงในประเทศฟิลิปปินส์
สำหรับค่าใช้จ่ายดำเนินงานสุทธิปกติเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยหลักจากค่าโฆษณาและส่งเสริมการขาย สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน (Share of gain from investments) ภาพรวมลดลงเล็กน้อย ในไตรมาสนี้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากประมาณ 12% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งรายรับสกุลเงินต่างประเทศ เพิ่มขึ้น จากไตรมาส 2/67 ส่งผลให้ในไตรมาส 3/67 มีผลขาดทุนสุทธิ 1,609 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.13 บาท พลิกจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไร 5.17 พันล้านบาท
ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปี 67 OR มีรายได้ขายและบริการ 538,054 ล้านบาท ลดลง 39,024 ล้านบาท (-6.8%) จากงวด 9 เดือนแรกของปี 66โดยหลักจากปริมาณจำหน่ายลดลงของกลุ่มธุรกิจ Mobility โดยรายได้ขายลดลง 8.3% สวนทางกับกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ที่เพิ่มขึ้น 8.1% ตามการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้นของทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ กลุ่มธุรกิจ Global ปรับเพิ่มขึ้น 11.6% ตามปริมาณจำหน่ายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์เป็นหลัก
ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 12,779 ล้านบาท ลดลง 5,904 ล้านบาท (-31.6%) เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนแรกของปี 66 โดยลดลงจากกลุ่มธุรกิจ Mobility และกลุ่มธุรกิจ Global ที่ภาพรวมกำไรขั้นต้นเฉลี่ยต่อลิตรที่อ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ยังแข็งแกร่งโดยปรับเพิ่มขึ้นจากธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายพิเศษ (Extra item) สำหรับค่าใช้จ่ายดำเนินงานปกติสุทธิปรับลดลง 4.6% โดยหลักจากค่าโฆษณาและส่งเสริมการขาย ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน (Share of gain from investments) ภาพรวมลดลง เนื่องจากรายการปรับปรุงการอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนในบริษัทร่วมทุนในประเทศเมียนมาเป็นหลัก ในงวดนี้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่เงินบาทอ่อนค่าลง และมีกำไรจากตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้นส่งผลให้ใน OR มีกำไรสุทธิจำนวน 4,651 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,251 ล้านบาท (-57.3%) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.39 บาท
ฐานะทางการเงิน ณ 30 ก.ย.67 OR มีสินทรัพย์รวม 201,420 ล้านบาท ลดลง 18,816 ล้านบาทจากสิ้นปี 66 โดยหลักมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดที่ลดลง หักกลบกับสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้น OR มีหนี้สิน รวม 95,417 ล้านบาท ลดลง 15,311 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากเจ้าหนี้การค้าที่ลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และการคืนเงินกู้ที่ครบกำหนด ส่วนของผู้ถือหุ้น 106,003 ล้านบาท ลดลง 3,505 ล้านบาท จากกำไรสุทธิระหว่างงวดหักการจ่ายเงินปันผล