บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.แอ๊ดวานซ์ อะโกร(AA) ที่ระดับ“BBB"ด้วยแนวโน้ม“Stable" หรือ “คงที่" อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงฐานะของบริษัทในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษชนิดเยื่อใยสั้นและกระดาษพิมพ์เขียนของไทย รวมถึงการมีโรงงานที่มีประสิทธิภาพและมีการผลิตที่ครบวงจร
อันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความต้องการเยื่อและกระดาษที่ค่อนข้างสม่ำเสมอทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษที่มีราคาค่อนข้างผันผวน รวมทั้งผลกระทบในเชิงลบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทหลังจากที่ผู้บริหารของบริษัทเข้ามาซื้อกิจการ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานในระยะปานกลางเอาไว้ได้ที่ระดับปัจจุบันแม้ว่าต้นทุนการผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทอาจแข็งค่าต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับเดิมแม้ว่าบริษัทจะมีแผนการลงทุนในโรงงานผลิตเยื่อกระดาษโรงที่ 3
นอกจากนั้น ยังสะท้อนถึงความตั้งใจของผู้บริหารที่จะยังคงเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทตามปกติต่อไปแม้ว่าบริษัทจะไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสะท้อนถึงความตั้งใจของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นด้วย อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ หรือหากผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงไปจากระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ
ทริสเรทติ้ง รายงานว่า อันดับเครดิตองค์กรของ AA ได้รับการประกาศเตือน“เครดิตพินิจ"แนวโน้ม“Developing" หรือ “ยังไม่ชัดเจน" เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 หลังจากที่นายโยธิน ดำเนินชาญวณิชย์ ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทได้แสดงเจตจำนงที่จะซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทจำนวน 99.9997% และจะถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 นายโยธินสามารถรวบรวมหุ้นของบริษัทได้ทั้งหมด 78.52% และบริษัทได้ถอนการจดทะเบียนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2551
หลังการถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทมีแผนจะปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการขายโรงไฟฟ้าจำนวน 3 โรงให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องคือ บริษัท เนชั่นแนล พาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายโรงไฟฟ้าไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษโรงที่ 3 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตประมาณ 210,000 ตันต่อปี และบางส่วนจะนำไปใช้ชำระหนี้
พร้อมกันนั้น ผู้บริหารของบริษัทยังมีแผนจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคนี้ภายในปี 2552 โดยยังคงยืนยันที่จะให้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานและข้อมูลทางการเงินตามปกติแม้ว่าบริษัทจะถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็ตาม
ทริสเรทติ้ง กล่าวว่า AA เป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยบริษัทและบริษัทในเครือเป็นเจ้าของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจำนวน 2 โรง มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 580,000 ตันต่อปี และมีเครื่องจักรผลิตกระดาษจำนวน 3 เครื่องซึ่งมีกำลังการผลิตประมาณ 558,000 ตันต่อปี เยื่อกระดาษที่ผลิตได้นั้นประมาณ 70% บริษัทนำมาใช้เพื่อการผลิตกระดาษ และที่เหลือส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
บริษัทเป็นผู้ส่งออกเยื่อใยสั้นรายใหญ่ที่สุดในประเทศคิดเป็นจำนวน 115,715 ตันในปี 2549 และ 143,808 ตันในปี 2550 ขณะที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับกระดาษพิมพ์เขียนภายในประเทศในปี 2550 ประมาณ 21% ลดลงจากประมาณ 23% ในปี 2549 บริษัทมีสัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจกระดาษประมาณ 77% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ธุรกิจเยื่อกระดาษมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 16% ของรายได้ทั้งหมด โดยรายได้ส่วนที่เหลือมาจากการขายไฟฟ้าและอื่นๆ ปริมาณการขายเยื่อและ
กระดาษของบริษัทในปี 2550 ปรับเพิ่มขึ้น 9.96% และ 8.65% ตามลำดับจากปีก่อน แม้ว่าราคาเยื่อและกระดาษในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐจะปรับเพิ่มมากกว่า 7% ในปี 2550 แต่รายได้จากการขายเยื่อและกระดาษในรูปของเงินบาทกลับปรับเพิ่มในอัตราเดียวกับปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเกือบ 9% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ณ เดือนธันวาคม 2550 บริษัทมีหนี้อยู่ 11,319 ล้านบาท ลดลง 15% จากปีก่อนเนื่องจากบริษัทมีการไถ่ถอนหุ้นกู้ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2550 จำนวน 38.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหุ้นกู้ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2555 อีกจำนวน 77.21 ล้านดอลลาร์ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ปรับลดลงจาก 48.20% ในปี 2549 มาอยู่ที่ 43.56%
อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวในระยะปานกลางจะยังคงอยู่ที่ระดับ 40% เนื่องจากบริษัทมีแผนจะก่อสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษโรงที่ 3 โดยมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากการกู้ยืม และส่วนที่เหลือจะใช้เงินสดจากการดำเนินงานและเงินจากการขายโรงไฟฟ้า
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--