อเบอร์ดีน ฉายภาพตลาดทุนสหรัฐ-จีน-อินเดีย รับผลดี "ทรัมป์" คืนเก้าอี้ ให้เป้า SET ปี 68 ช่วง 1,500-1,600 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 13, 2024 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดองเย จาง Head of Investment Specialists บลจ.อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ มองว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐจากนโยบาย American First ซึ่งจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และจะส่งผลให้เงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปที่ 3% จากปัจจุบันอยู่ 2.4% เนื่องจากอุตสาหกรรมภาคบริการที่มาจากแรงงานจะมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยดังกล่าวมองว่าจะเห็นการปรับประมาณการณ์ GDP ของสหรัฐในปี 68 เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลมาถึงทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอลงกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งเบื้องต้นจากการประเมินใหม่หลังนายทรัมป์ชนะเลือกตั้ง คาดว่าการประชุมเฟดในเดือน ธ.ค.67 ถึงสิ้นปี 68 จะลดอัตราดอกเบี้ยรวมกัน 1.25% หรือลดลง 0.25% ต่อไตรมาส จากเดิมที่คาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยรวมกันเกือบ 2% ภายใต้คาดการณ์ GDP สหรัฐปีนี้จะเติบโต 2.7% และปี 68 จะเติบโตได้ราว 2%

ด้านจีนคาดว่าจะเห็นการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น และจะมีความชัดเจนออกมาทั้งเรื่องมาตรการสนับสนุนการคลัง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และคาดว่าจะเกิดผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในตลาดภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนมีโอกาสกลับมาเติบโตในระดับ 6-8% ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากในปี 67 และ 68 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 4.8% และ 4.6% ตามลำดับ ภาพรวมการลงทุนตลาดโลก ยังมีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นพัฒนาแล้วอย่างประเทศสหรัฐฯ เนื่องจากภาพรวมหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังมีโอกาสเติบโต นอกจากนี้ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดเกิดใหม่ เช่น ตลาดหุ้นจีน และอินเดีย ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่ามีโอกาสปรับตัวแข็งค่ามากขึ้นหลังจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงไม่มากแล้ว นอกจากนี้ในกลุ่มตลาดตราสารหนี้อ้างอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแนะนำจากลงทุนเปลี่ยนเป็น Neutral

ส่วนตลาดหุ้นไทยในปี 68 คาดว่าดัชนี SET จะอยู่ในช่วง 1,500-1,600 จุด ที่ P/E ราว 15 เท่า และ EPS Growth อยู่ที่ 8-10% โดยที่ประเทศไทยยังได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน ทำให้ยังคงเห็นเม็ดเงินลงทุนเข้ามาต่อเนื่อง และค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่ายังหนุนต่อกลไกขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย คือ การส่งออก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ