นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธุรกิจเอสเอ็มอียังคงเผชิญความท้าทายสำคัญจากราคาพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน ตามด้วยต้นทุนค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความกังวลทางเศรษฐกิจทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากคู่แข่งใหม่ๆ
โดยที่ผ่านมาธนาคารมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าเพื่อปรับตัวรับกับความท้าทายทั้งในรูปแบบสินเชื่อ การจัดกิจกรรมสัมมนา และหลักสูตรการให้ความรู้ต่างๆ ส่งผลให้การบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีมีประสิทธิภาพ ซึ่งในไตรมาส 3/67 พอร์ตสินเชื่อลูกค้าเอสเอ็มอีมีจำนวน 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อเอสเอ็มอีปล่อยใหม่อยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่แนวโน้มอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบจากสิ้นปี 66 โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับ 2.9% ลดลงจาก 3.2% ในปี 66 ทำให้มั่นใจว่า สิ้นปีนี้ NPL จะทรงตัวที่ 2.9%
ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้ช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ช่วงโควิดจนถึงปัจจุบันคิดเป็นมูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้สถานการณ์ลูกค้าดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันเหลือลูกค้าที่ยังต้องช่วยเหลืออยู่ในสัดส่วนลดลงคิดเป็นมูลค่ารวมราว 3.5 พันล้านบาท
ธนาคารยังคงเป้าหมายช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันภาครัฐเตรียมออกมาตราการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเพิ่มเติมในระยะถัดไป ส่วนรายละเอียดมาตรการดังกล่าวยังคงต้องติดตามกันต่อไป และที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความสำคัญในการสนับสนุนให้ลูกค้าปรับตัวอย่างต่อเนื่องด้วยกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านความยั่งยืน เช่น โครงการ Bootcamp โครงการ IEP โครงการ DSM โครงการ IBE โครงการ The Dots โครงการ ITP
ล่าสุด โครงการ Phuket ESG Start Now ซึ่งมีผู้ประกอบการมากกว่า 1,000 รายจากหลากหลายอุตสาหกรรมผ่านการอบรมการปรับตัวสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ ธนาคารได้นำเสนอสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) ดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไป เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปยกระดับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในกิจการ การจัดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียและบำบัดมลพิษ โดยนับตั้งแต่ปี 66 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารอนุมัติวงเงินสินเชื่อไปจำนวนมากกว่า 3 พันล้านบาท ด้วยแนวคิดธนาคารไทยพาณิชย์ "อยู่ อย่าง ยั่งยืน" ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่จะนำการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่ทุกภาคส่วน กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี พร้อมสานต่อแนวคิดดังกล่าว โดยประกาศแนวทาง "เริ่ม เพื่อ รอด" ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. โครงการสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) ดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี
2. โครงการที่ปรึกษาทางธุรกิจ SCB SME Mentor รุ่นที่ 4 Sustainability เป็นที่ปรึกษาให้ธุรกิจเอสเอ็มอีก้าวข้ามผ่านสู่ความยั่งยืน ผนึกกำลัง 3 หน่วยงาน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (หรือ NIA), และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และยังมีอีก 1 บริษัทเอกชน บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมมือกันนำความรู้ ประสบการณ์ และ เชี่ยวชาญการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจ และ ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมให้แก่นักธุรกิจ SMEs รายอื่นๆ เพื่อร่วมวางยุทธศาสตร์การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ SMEs ในระยะยาว
"การปรับตัวเพื่อรับกับกระแส ESG ต้องดำเนินการควบคู่ทั้งการอบรมให้ความรู้ การให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ด้วยแนวทาง "เริ่ม เพื่อ รอด" จะมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพิ่มความตระหนักรู้และเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เอสเอ็มอีที่เริ่มก่อน มีโอกาสรอดก่อน และนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจมากมาย อาทิ การเข้าถึงสินเชื่อที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี การดึงดูดนักลงทุนและลูกค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจสีเขียว ตั้งเป้าจำนวนลูกค้าเอสเอ็มอีเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนไม่น้อยกว่า 1,000 กิจการ และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท" นางพิกุล กล่าว