CMAN ลุยปรับโครงสร้างเงินกู้ครั้งใหญ่ลดความผันผวน FX หนุนผลงานปี 67 เร่งขยายธุรกิจรอบทิศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 15, 2024 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

CMAN ลุยปรับโครงสร้างเงินกู้ครั้งใหญ่ลดความผันผวน FX หนุนผลงานปี 67 เร่งขยายธุรกิจรอบทิศ

หม่อมหลวงจันทรจุฑา จันทรทัต ประธานกรรมการ บมจ.เคมีแมน (CMAN) กล่าวว่า แนวโน้มในไตรมาส 4/67 บริษัทมั่นใจว่าจะเติบโตตามเป้าหมาย จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ปูนไลม์ในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และออสเตรเลียยังเติบโตต่อเนื่อง และราคาขายที่สอดคล้องกับคุณภาพสินค้ามากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเงินกู้ระหว่างกันกับบริษัทลูกที่ออสเตรเลียให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ให้หมดไป ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในอนาคตของบริษัทมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศตามแผนงานที่ตั้งไว้

สำหรับผลงานไตรมาส 3/67 บริษัทมีรายได้ 877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.1% มีกำไรขั้นต้น 314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.6% และขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 96 ล้านบาท โดยมีสาเหตุจากรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นและที่ไม่ใช่เงินสด จำนวน 185 ล้านบาท หากไม่รวมรายการขาดทุนดังกล่าว กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นจะเท่ากับ 89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 138.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

งวด 9 เดือนปี 67 บริษัทฯ มีรายได้ 2,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% มีกำไรขั้นต้น 1,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% และกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท อยู่ที่ 168 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากำไรสุทธิของทั้งปี 2566 ที่ทำได้ 136 ล้านบาท หากไม่รวมรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่เกิดขึ้นและรายการที่ไม่ใช่เงินสด กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นจะเท่ากับ 351 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

"การดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทยังแข็งแกร่งมาก ทั้งปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนต้นทุนขายลดลง อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในไตรมาส 3 ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเงินบาทแข็งค่ารุนแรงเมื่อเทียบกับ AUD และ VND ทำให้เกิดผลขาดทุนในทางบัญชีอันเนื่องมาจากบริษัทมีการปล่อยกู้ให้กับบริษัทย่อยที่ออสเตรเลียเป็นเงิน AUD และบริษัทย่อยที่เวียดนามเป็นเงินบาท อีกทั้งโรงงานในเวียดนามได้รับผลกระทบจากพายุยางิ แต่สามารถจัดการฟื้นฟูความเสียหายและกลับมาผลิตได้ภายใน 1 เดือน โดยไม่กระทบกับยอดขายโดยรวม" หม่อมหลวงจันทรจุฑา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ