ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ที่ระดับ "AA" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำของบริษัทในตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาคจากการมีตราสินค้าที่แข็งแกร่งและเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง รวมทั้งยังสะท้อนถึงความยืดหยุ่นในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการแข่งขันที่รุนแรงในสินค้ากลุ่มเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ตลอดจนตลาดสุราที่อิ่มตัวในประเทศไทย และข้อจำกัดด้านกฎระเบียบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- การรวมกิจการของ F&N ช่วยเพิ่มฐานรายได้และเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ
ในเดือนกันยายน 2567 บริษัทกับ TCC Assets Ltd. (TCCAL) ได้ทำการแลกเปลี่ยนหุ้นจำนวน 28.78% ใน Frasers Property Ltd. (FPL) กับหุ้นจำนวน 41.30% ใน Fraser and Neave Ltd. (F&N) ซึ่งทำให้การถือหุ้นของบริษัทใน F&N เพิ่มขึ้นเป็น 69.61% โดยบริษัทจะรวมงบการเงินของ F&N เข้ามาในงบการเงินรวมของบริษัทตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ F&N ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำในประเทศสิงคโปร์เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ตลอดจนผลิตภัณฑ์นมและการพิมพ์ โดยประมาณ 40% ของรายได้ของ F&N มาจากประเทศมาเลเซีย ประมาณ 31% มาจากประเทศไทย ประมาณ 20% มาจากประเทศสิงคโปร์ และที่เหลือมาจากประเทศอื่น ๆ
การรวมกิจการของ F&N จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัททั้งในด้านการขยายฐานรายได้และการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจ ทริสเรทติ้งประเมินว่ารายได้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15%-20% โดยการรวมกิจการในครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทขยายตลาดให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจไปยังกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 35% ของรายได้รวมเมื่อเทียบกับระดับ 28.6% ในปีงบประมาณ 2566 ในขณะเดียวกัน รายได้จากผลิตภัณฑ์ไม่มีแอลกอฮอล์ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 30% ของรายได้รวมจาก 14% ในปีงบประมาณ 2566 นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะผสานประโยชน์ทางธุรกิจในแง่ของการเพิ่มรายได้ผ่านการจำหน่ายสินค้าร่วมกันกับ F&N มากยิ่งขึ้นควบคู่ไปกับการลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนลงเมื่อการบูรณาการทางธุรกิจมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นอีกด้วย
- สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งโดยมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง
บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในทุกพื้นที่ที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ โดยในประเทศไทยนั้น บริษัทเป็นผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ทั้งนี้ บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามยอดขายสุรามากกว่า 90% และเบียร์เกือบ 40% นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นผู้นำในตลาดชาพร้อมดื่มและน้ำดื่ม อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายสำคัญในกลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มประเภทอื่น ๆ อีกด้วย สำหรับในตลาดต่างประเทศนั้น บริษัทมีบริษัทลูกที่มีบทบาทสำคัญในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น Saigon Alcohol, Beer and Beverage Corporation (SABECO) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนามด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับประมาณ 35%-40% ในขณะที่ Grand Royal Group (GRG) ก็เป็นผู้ผลิตวิสกี้รายใหญ่ที่สุดในประเทศเมียนมาซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 70%
บริษัทได้สร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางซึ่งครอบคลุมร้านค้าปลีกในประเทศไทยมากกว่า 500,000 ร้าน โดยมีศูนย์กระจายสินค้าขนาดใหญ่ 4 แห่ง และมีรถขนส่งสินค้าจำนวนมากกว่า 7,000 คัน นอกจากนี้ บริษัทยังมีช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนที่มีประสิทธิภาพอีกมากกว่า 250 รายและมีพนักงานขายมากกว่า 1,700 คนอีกด้วย ทั้งนี้ เครือข่ายกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งซึ่งผ่านร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมของบริษัทสามารถสร้างยอดขายสำหรับการบริโภคในครัวเรือนโดยลดการพึ่งพาช่องทางศูนย์การค้าสมัยใหม่ลงได้ ในขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ขยายสู่ตลาดในภูมิภาคอาเซียนโดยผ่านการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น F&N ซึ่งมีสถานะที่แข็งแกร่งในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ส่วนการซื้อกิจการของ SABECO และ GRG นั้นก็ช่วยเพิ่มเครือข่ายในการกระจายสินค้าไปยังประเทศเวียดนามและเมียนมาด้วย
- กฎระเบียบภาครัฐจำกัดการเติบโต
การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการควบคุมและดูแลที่เข้มงวดของภาครัฐโดยต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบต่าง ๆ อาทิ การจำกัดการโฆษณา การกำหนดเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งทำให้การเพิ่มยอดขายหรือการเจาะตลาดใหม่ ๆ ทำได้ยาก เนื่องจากภาษีสรรพสามิตเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลและเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รัฐบาลไทยจึงได้มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นระยะ ๆ บริษัทสามารถรักษาอัตราการทำกำไรได้โดยการส่งผ่านภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้บริโภคซึ่งส่งผลให้ยอดขายลดลงชั่วคราว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น ทั้งอัตราการทำกำไรหรือยอดขายของบริษัทจึงน่าจะสูงกว่านี้ได้หากมีการขึ้นภาษีสรรพสามิตที่ไม่บ่อยจนเกินไป ส่วนในประเทศเวียดนามนั้น รัฐบาลเวียดนามมีกฎหมายห้ามขับรถในขณะมึนเมา (DECREE 100) ที่มีบทลงโทษรุนแรงซึ่งเป็นปัจจัยที่จำกัดโอกาสในการเติบโตของยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้าน นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีแผนจะเพิ่มภาษีการบริโภคเบียร์เพื่อเพิ่มรายได้และลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย
- คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจเดิมจะปรับตัวดีขึ้น
หากไม่นับรวมการรวมกิจการของ F&N ทริสเรทติ้งคาดว่าการเติบโตของรายได้ของธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทจะคงที่ในปีงบประมาณ 2567 และจะเติบโตในระดับปานกลางที่ประมาณ 3% ต่อปีในช่วงปีงบประมาณ 2568-2570 ซึ่งน่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของรายได้จากธุรกิจเบียร์ในประเทศเวียดนามตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ส่วนรายได้จากประเทศไทยนั้นก็คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลากหลายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายจะเพิ่มการบริโภคแม้ว่าการแข่งขันที่รุนแรงในหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาจจำกัดการเติบโตยกเว้นในกลุ่มเครื่องดื่มสุรา และเมื่อรวมผลการดำเนินงานของ F&N เข้ามาด้วยแล้ว ทริสเรทติ้งก็คาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 3.41-3.70 แสนล้านบาทต่อปีในระหว่างปีงบประมาณ 2567-2570 เมื่อเทียบกับระดับ 2.80 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2566
แรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ลดลงรวมถึงการจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพทำให้ EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 19.4% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 จาก 17.6% ในปีงบประมาณ 2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทจะคงที่ที่ระดับ 18%-19% ในช่วงปีงบประมาณ 2567-2570 อย่างไรก็ตาม การรวมผลการดำเนินงานของ F&N ที่มีอัตรากำไรที่ต่ำกว่าคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ EBITDA Margin โดยรวมของบริษัทซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17% ในช่วงประมาณการ ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.0-6.5 หมื่นล้านบาทในช่วงประมาณการจากประมาณ 5.0 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2566
- ภาระหนี้จะลดลง
ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 ภาระหนี้ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.72 แสนล้านบาทจาก 1.69 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.3 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 เมื่อเทียบกับระดับ 3.4 เท่าในปีงบประมาณ 2566 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะลดลงเหลือประมาณ 3.1 เท่าในปีงบประมาณ 2567 หลังจากการรวมกิจการของ F&N ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า ในการนี้ เนื่องจากบริษัทไม่มีแผนลงทุนที่ต้องใช้เงินกู้จำนวนมากในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะค่อย ๆ ลดลงเหลือประมาณ 2.7 เท่าในปีงบประมาณ 2570 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจ่ายชำระหนี้และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงประมาณการ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีงบลงทุนที่ประมาณ 9 พันล้านบาทถึง 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี
- สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
บริษัทมีสถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีแหล่งเงินทุนซึ่งประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 4.62 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีข้อผูกมัดจากสถาบันการเงินต่าง ๆ อีกจำนวนประมาณ 6.8 หมื่นล้านบาท และในเดือนตุลาคม 2567 บริษัทยังได้ออกหุ้นกู้ใหม่จำนวน 2 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ชำระคืนหนี้ที่จะครบกำหนดอีกด้วย ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าสภาพคล่องที่มีทั้งหมดของบริษัทจะเพียงพอสำหรับการชำระคืนหนี้และการลงทุนของบริษัทในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 ระบุว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สินระยะยาวที่ต้องชำระคืนจำนวนประมาณ 3.22 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้สินระยะสั้นอีกจำนวน 9 พันล้านบาท
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ 0.9 เท่าซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเงื่อนไขของหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ที่ 3 เท่าเป็นอย่างมาก
- โครงสร้างหนี้
ณ เดือนมีนาคม 2567 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้นจำนวน 2.07 แสนล้านบาทซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนนั้นเป็นหนี้ที่ไม่มีการค้ำประกันของบริษัทย่อย ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมอยู่ที่ระดับ 12%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
? รายได้ต่อปีจะอยู่ในช่วง 3.41-3.70 แสนล้านบาทในระหว่างปีงบประมาณ 2567-2570
? EBITDA Margin คาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17%-18%
? งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านบาทถึง 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงประมาณการ
? อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วจะค่อย ๆ ลดลงสู่ระดับ 2.7 เท่าในปีงบประมาณ 2570
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับปานกลางต่อไป อีกทั้งบริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทปรับตัวลดลงจนต่ำกว่า 2 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณการของทริสเรทติ้ง หรือหากบริษัทดำเนินนโยบายทางการเงินในเชิงรุกมากยิ่งขึ้นซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่า 3.5 เท่าเป็นเวลานาน