PTT เดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุน ปิโตร-โรงกลั่น-Life Science ชัดเจนปี 68 ส่งสัญญาณถอยแผนผลิตรถ EV

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 19, 2024 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) ย้ำกลยุทธ์หลักมุ่งเน้นการเติบโตของกำไรและรายได้ โดยภาพธุรกิจในระยะสั้นจะเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน โดยจะเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของ ปตท.เองและบริษัทในกลุ่ม ปตท.

บริษัทจะมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต รวมถึงธุรกิจก๊าซธรรมชาติ (LNG) โดยจะมุ่งเน้นการนำเข้า LNG เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

นายคงกระพัน กล่าวว่า ในปี 68 ภาพรวมธุรกิจปิโตรเคมีคาดจะดีขึ้นกว่าปีนี้ หรืออย่างน้อยจะมีดาวน์ไซด์จำกัด เนื่องจากหากเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้น และมีการตั้งด้อยค่าน้อยลง ส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเคมี ภายใต้ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ

ขณะที่ ปตท.จะยังมุ่งลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องหลังจากปีนึ้ทำได้ราว 8% สูงกว่าเป้า

สำหรับการปรับพอร์ตการลงทุนของกลุ่ม ปตท. โดยเฉพาะธุรกิจหลักเดิม คือ ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น นายคงกระพัน กล่าวว่า ยังอยู่ในช่วงของการหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง คาดจะมีความคืบหน้าในปี 68 รวมถึงการหาพันธมิตรในธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ คาดว่าจะชัดเจนต้นปีหน้า

ส่วนการร่วมทุนกับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มฐานรถ EV มูลค่าลงทุนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น ปัจจุบันยุติการก่อสร้างไปก่อน โดยอยู่ระหว่างเจรจากับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป เพื่อให้เป็นแกนหลักในการดำเนินธุรกิจต่อ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญมากกว่า

อนึ่ง โรงงานผลิตรถ EV ภายใต้การร่วมทุนของ บริษัท อรุณพลัส จำกัด ในเครือ ปตท.ในสัดส่วน 60% และ ฟ็อกซ์คอนน์ 40% ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยกำลังผลิตเฟสแรกที่ 50,000 คัน/ปี ก่อนหน้านี้ อรุณพลัสและฟ็อกซ์คอนน์ ตัดสินใจเลื่อนการผลิตเชิงพาณิชย์ไปเป็นปี 68 แทน

นายคงกระพัน ยังกล่าวถึงปัญหาของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เกี่ยวกับผู้รับเหมาช่วงโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ชุมนุมบริเวณหน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากผู้รับเหมาหลักว่า บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีทีมเข้าไปให้คำแนะนำเพราะถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม TOP ถือเป็นธุรกิจที่มีกำไร และมีเม็ดเงินลงทุนโครงการเพียงพอ ดังนั้น การก่อสร้างโรงงานจะต้องเดินหน้าต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ