บมจ.การบินไทย (THAI) เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ จำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น ในราคาหุ้นละ 4.48 บาท มูลค่าการเสนอขายประมาณ 44,005 ล้านบาท ระยะเวลาจองซื้อ 6-12 ธ.ค.67 โดยมีบล.เกียรตินาคินภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานบริษัทฯ ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 4.5 หุ้นสามัญเพิ่มทุน
บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ไปใช้ใน
1) การจัดหาเครื่องบินและค่าใช้จ่ายตามสัญญาเช่าเครื่องบินในปัจจุบัน จำนวน 26,049 ล้านบาท ในช่วงปี 68-70
2) การปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) เช่น ติดตั้งที่นั่งใหม่ ติดตั้ง WiFi จำนวน 5,000 ล้านบาท ในปี 68-71
3) การพัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุง (MRO Centers) จำนวน 2,000 ล้านบาท ในปี 68-69 ซึ่งบริษัทมีแผนลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง, สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่สายการบินอื่นๆ และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากศยานในภูมิภาคอาเซียน
4) เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ จำนวน 10,000 ล้านบาทในปี 68-70
ที่มาของการกำหนดราคาเสนอขาย โดยคณะผู้บริหารแผนได้พิจารณาจากข้อมูลและปัจจัยหลายส่วนเพื่อกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญที่เหมาะสมอย่างรอบคอบ ซึ่งรวมถึง ข้อจำกัดและโครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ความสมดุลของราคาเสนอขายและความต้องการของนักลงทุนควบคู่กับสภาวะตลาด ประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัทฯ เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้ถือหุ้น และนักลงทุน
ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทฯ ได้รับเงินทุนจากการเสนอขายที่เหมาะสม และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ การพิจารณาราคามูลค่ายุติธรรมของบริษัทฯ จำเป็นต้องพิจารณาถึงมูลค่าบริษัทฯ ในระยะยาวซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่หุ้นของบริษัทฯ จะใช้เวลารวมกว่า 5 - 6 เดือนภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ ก่อนที่จะสามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ (Illiquid Period)
ในการประเมินมูลค่ายุติธรรม ผู้บริหารแผนอ้างอิงมูลค่ายุติธรรมที่ประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ คือ บล. เกียรตินาคินภัทร และที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ คือ บริษัท แคปปิตอล แอ๊ดแวนเทจ จำกัด โดยใช้วิธีต่าง ๆ เช่น EV/EBITDA, P/E และ Discounted Cash Flow อย่างไรก็ดี วิธี EV/EBITDA เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการประเมินมูลค่ากิจการ ณ ปัจจุบัน เนื่องจากสะท้อนมูลค่ากิจการในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูง
*ส่วนของทุนเพิ่มเป็น 4.4 หมื่นลบ.หลังขายหุ้นเพิ่มทุนหมด
อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีภาระหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันและหุ้นกู้ เหลืออยู่ 64,900 ล้านบาท
และ เมื่อบริษัทเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (ก่อนปรับโครงสร้าง) จำนวน ไม่เกิน 9,822 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.48 บาทต่อหุ้น ในอัตรา 1 หุ้นเดิมต่อ 4.5 หุ้นใหม่ หากมีการจองซื้อเต็มจำนวนจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นบวกเพิ่มเป็น 44,000 ล้านบาท
โดยคาดว่า หลังจากเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม หากเหลือจะขายให้กับพนักงาน ถ้าเหลือก็จะเสนอขายให้ผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ที่เป็นนักลงทุน High Network ในไทย
ส่วนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับ Strategic Partner นายปิยสวัสดิ์ กล่าว่า ผู้บริหารแผนตัดสินใจแล้วว่าจะยกเลิกการขายหุ้นส่วนนี้ แม้ว่าในระยะยาวจะได้ประโยชน์ แต่ในระยะสั้นมีอุปสรรค ผู้บริหารแผนเห็นว่าในอนาคตหากมีการเพิ่มทุนก็เป็นเรื่องอนาคตที่จะดึง Strategic Partner เข้ามาร่วมมือได้
THAI ประเมินว่าหากผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิเพิ่มทุนเต็ม 100% จะทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้น เป็น
1. กระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีสัดส่วนถือหุ้น 37.5% จากเดิม 49.99%
2. กองทุนวายุภักษ์ ถือ 2.8% จากเดิม 7.6%
3. ธนาคารกรุงเทพ ถือ 7.4% จาก 0.4%
4. ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน ลดเหลือ 2.8% จากเดิม 42%
5. เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการถือ 37.1%
6. ผู้ถือหุ้นเดิม พนักงานและ PP ที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ถือ 12.5%
ทั้งนี้ บริษัทจะแจ้งผลการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังคงความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ยังเป็นข้อกังวล อย่างไรก็ดี เจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนแล้วจะมีสัดส่วนใกล้เคียงกับกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ในวันที่ 29 พ.ยัง.นี้ จะมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่ออนุมัติการแก้ไขแผนฟื้นฟู 3 ข้อ คือ1. การลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม 2. ขอจ่ายเงินปันผล และ 3. เพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คนคือ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผน ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การเพิ่มผู้บริหารแผนเพื่อให้การพิจารณาแนวทางนโยบายของรัฐบาล ที่เป็น Aviation Hub ในไทยเชื่อมโยงเส้นทางการบิน รวมถึง Facility ซึ่งเมื่อมีผู้บริหารแผนจากภาครัฐเพิ่มมาจะช่วยพิจารณาในรายละเอียดให้สอดรับแนวทางการทำงานของการบินไทย ทั้งเรื่องฝูงบิน เส้นทางบิน ทำให้การบินไทยได้รับประโยชน์