"อัสสเดช" เปิด 3 กลยุทธ์หลักตลาดหุ้นไทย ผุด Jump+ เพิ่ม Value บจ., พัฒนา Bond Connect Platform

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 28, 2024 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิด 3 กลยุทธ์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (68-70) ภายใต้แนวคิด "เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม" (Fair & Inclusive Growth) มุ่งสร้างความแข็งแกร่งเข้าถึงได้ง่ายและสร้างประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน พร้อมปรับตัวท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจและตลาดทุนโลก ประกอบด้วย

1. มุ่งมั่นเพื่อโอกาสการเติบโต (Enable Growth Ambitiously)

  • เพิ่มความน่าสนใจด้านบริษัทจดทะเบียน

+ ริเริ่มโครงการ "Jump+" เพื่อสร้างการเติบโตให้กับตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นบริษัทที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการเพิ่มมูลค่าของบริษัท โดยบริษัทจดทะเบียนสามารถเข้าร่วมตามความสมัครใจ ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนให้เกิดพัฒนาการด้านการดำเนินงาน การขับเคลื่อนความยั่งยืนตามหลัก ESG การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) บริการให้คำปรึกษา และเพิ่มช่องทางสื่อสารกับผู้ลงทุนเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ และการรับรู้ให้แก่ผู้ลงทุน รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานพันธมิตร

+ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเตรียมพัฒนาดัชนีใหม่ที่จะช่วยสะท้อนผลการดำเนินงานของบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ Jump+ และร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดทำบทวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจลงทุน

  • สร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น ด้วยการนำ AI มาใช้ในงานด้านกำกับบริษัทจดทะเบียน เพื่อติดตามเฝ้าระวัง ดำเนินมาตรการ และแจ้งเตือนแก่ผู้ลงทุนอย่างทันท่วงที พร้อมขยายองค์ความรู้ด้านบรรษัทภิบาล (corporate governance) สร้างความเข้าใจกลไกตลาดทุนแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการประเมินประสิทธิผล และทบทวนมาตรการให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน
  • ส่งเสริมและขยายการใช้ผลิตภัณฑ์ตลาดทุน นำเสนอข้อมูลและบริการที่ตอบโจทย์รองรับผู้ลงทุนที่หลากหลายและแตกต่าง พร้อมกับพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับการบริหารพอร์ตและการลงทุนทุกสถานการณ์ และขยายเวลาซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ ควบคู่กับการดึงดูดผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ผ่านการนำเสนอข้อมูล (roadshow) ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
" เราพบว่าครึ่งหนึ่งของ บจ.มี Price/Book Value (P/BV) ต่ำ ไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง จะทำยังไง ...โครงการ Jump+ เราคาดหวังให้บจ.เพิ่มศักยภาพ และเพิ่มมูลค่าได้"นายอัสสเดช กล่าว

ทั้งนี้ โครงการสนับสนุนการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ผ่าน jump+ โดยตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณากลุ่มเป้าหมาย ในด้านการซื้อขาย ได้แก่ P/BV , Research coverage ,ด้านผลการดำเนินงาน อาทิ Revenue, growth , Margin และ ด้านผู้ถือหุ้น อาทิ ROE , Dividend

โดยสิ่งที่ บจ.ดำเนินการคือ วิเคราะห์ผลการดำเนินงาน , จัดทำแผนและกำหนดเป้าหมายการเติบโต และ สื่อสารความคืบหน้าของแผนให้กับผู้ลงทุน

นายอัสสเดช กล่าวว่า นอกจากนี้ ตลท.ต้องการช่วยเหลือ บจ.ขนาดเล็กที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ลงทุน และไม่ได้มีบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ครอบคลุม โดยปัจจุบันมี บจ.ในตลาด mai ย้ายเข้าตลาด SET ประมาณ 56-57 บริษัท รวมถึงกระบวนการ M&A ที่เป็นกลไกสำคัญสร้างการเติบโตของกิจการ หรือเพิ่มความหลากหลายธุรกิจ และการเพิ่มขนาด (Scale) ซึ่งก็สำคัญในการแข่งขัน

ขณะเดียวกันจะผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเป็น Listing Hub ที่จะเป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจที่มีศักยภาพเชื่อมโยงการขับเคลื่อนประเทศจากทั้งในและต่างประเทศ เหมือนตลาดหุ้นสิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น โดยต้องชูจุดแข็งของไทย ในอุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว และ Healthcare เพื่อยกระดับภาคธุรกิจของไทย

นอกจากนี้ ตลท.กำลังศึกษาว่า จะนำสตาร์อัพ และเอสเอ็มอีเชื่อมต่อกับตลาดทุน โดยได้ศึกษากรณีตัวอย่างในตลาดหุ้นเกาหลี หรือตลาดที่อิสตันบูลประเทศตุรกี ก็มี Venture Capital โดยทำเป็น Platform ที่เป็นตัวกลางให้ผู้ประกอบการรายย่อยและนักลงทุนมาพบกัน

2. ร่วมพัฒนา เพื่อความทั่วถึง (Grow Together & Inclusively)

  • สนับสนุนการทำงานของผู้ร่วมตลาด พัฒนา Bond Connect Platform เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ลงทุนบุคคลเข้าถึงการลงทุนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกและตลาดรองได้ง่ายขึ้น โดยผู้ลงทุนบุคคลสามารถจองซื้อพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกในลักษณะเดียวกับการจองซื้อหุ้น IPO และยังสามารถซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรองผ่าน Platform พร้อมทั้งสามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันสำหรับการลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้
  • มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ใหม่ (SET Clear) กำหนดเริ่มให้บริการในปี 2570 และขยายความร่วมมือในรูปแบบ IT service partnership อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ร่วมตลาด
  • ขยายการสื่อสารแก่ผู้ลงทุนและประชาชน เน้นการสื่อสารที่เข้าถึง ทั่วถึง สร้างความเข้าใจในประเด็นที่ผู้ลงทุนควรรู้แบบเข้าใจง่ายและทันการณ์ ผ่านช่องทางใหม่ๆ ด้วยสื่อ และกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรทุกภาคส่วน พร้อมเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพหลอกลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ

นายอัสสเดช กล่าวว่า พันธบัตรรัฐบาลถือเป็นหลักทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ ทำอย่างไรให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงพันธบัตรรัฐบาล ทั้งตลาดแรกและตลาดรอง โดย Bond Connect Platform จะแก้ pain point ที่ให้รายย่อยสามารถซื้อได้ผ่านบัญชีหลักทรัพย์ที่มีอยู่ และตลาดรองก็จะมีสภาพคล่องมากขึ้น สามารถเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี ตลท.ยังไม่มีแผนนำหุ้นกู้บริษัทเอกชนเข้ามาซื้อขายใน Platform นี้ ส่วนค่าธรรมเนียมกำลังอยู่ระหว่างการศึกษา แต่จะไม่ใช้วิธี Auto Matching

3. สรรสร้างคนและอนาคต (Groom People & Our Future)

  • พัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ทางการเงิน สร้างคนรุ่นใหม่ (Next Gen) ประกอบด้วย ผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพ ภาคการศึกษา และ Influencer ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการเงิน การลงทุน พร้อมทั้งนำเสนอ SET Learn Scape Platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรองรับกระบวนการการเรียนรู้แบบเฉพาะบุคคลเพื่อพัฒนาบุคลากรบริษัทจดทะเบียน ช่วยสร้างศักยภาพพนักงาน เสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทั้ง 2 โครงการจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำเสนอเนื้อหาความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้นกันด้านการเงินและการลงทุน

ปัจจุบัน มีบัญชีลงทุนราว 6 ล้านบัญชี โดยตลาดฯมีแผนจับมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะไปให้ความรู้เกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลกับนักศึกษา รวมถึงดูแลกลุ่มผู้ลงทุนสูงอายุ

  • สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ low carbon economy ร่วมกับพันธมิตร ด้วยการออกแบบรูปแบบ Carbon Market Platform ที่เหมาะสม เพื่อรองรับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทั้งในตลาดภาคบังคับ (Compliance market) และภาคสมัครใจ (Voluntary market) พัฒนาเครื่องมือในการคำนวณ Carbon Footprint ขององค์กร (SET Carbon) พร้อมสนับสนุนการสร้างหลักสูตรและจัดสอบผู้ทวนสอบ (Verifier) เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ Low Carbon Economy และ Net Zero ในปี 2593
  • เตรียมพร้อมคน ปรับวิถีงาน ตอบโจทย์อนาคต เสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ AI แก่พนักงาน เตรียมความพร้อมพัฒนาบุคลากรทุกระดับ ขับเคลื่อนองค์กรสู่อนาคต

ทั้งนี้ ตลาดฯได้นำร่อง 20 บจ.แล้ว และปีหน้าจะขยายจำนวน บจ.มากขึ้น ซึ่งจะรวมถึงบริษัทนอกตลาด(Non Listed) ด้วย รวมทั้งจะพัฒนา "Carbon Professional" โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทวนสอบ (Verifier) รองรับความต้องการของภาคธุรกิจซึ่งปัจจุบันมีเพียง 155 รายเท่านั้น

https://youtu.be/s6nYZnKZ8fA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ