สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุนรายนางสาวธันยพร อุชุไพบูลย์วงศ์ เป็นเวลา 3 ปี กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ขณะกระทำผิดสังกัดบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
สำนักงาน ก.ล.ต. พบข้อร้องเรียนของผู้ลงทุน จำนวน 7 ราย โดยระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม 2564-16 พฤศจิกายน 2565 ได้ลงทุนซื้อตราสารหนี้ที่ออกและเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ กับนางสาวธันยพร ซึ่งมีพฤติกรรมติดต่อชักชวนและเสนอขายตราสารหนี้ให้แก่ผู้ลงทุนทั้ง 7 รายดังกล่าว โดยมิได้ตรวจสอบคุณสมบัติ และ/หรือเรียกขอเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติการเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่จากผู้ลงทุนให้ครบถ้วนตามเกณฑ์การออกและเสนอขายของตราสารหนี้
รวมถึงได้จัดทำเอกสารแสดงคุณสมบัติการเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง ในการนำมาใช้ประกอบการลงทุนในตราสารหนี้ของผู้ลงทุนและยื่นต่อ บล.เมย์แบงก์ ทำให้ผู้ลงทุนเข้าเกณฑ์การเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าวได้ ซึ่งส่งผลให้นางสาวธันยพรได้รับค่าตอบแทนในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รวมเป็นเงิน 30,000 บาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่มิควรได้ เนื่องจากผู้ลงทุนดังกล่าวไม่ได้เข้าเกณฑ์การเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่
ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนางสาวธันยพรตามที่กล่าวข้างต้น เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยใช้หน้าที่แสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง และไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ โดยให้ข้อมูลหรือจัดทำเอกสารไม่ตรงต่อความเป็นจริง ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน* ก.ล.ต. จึงเพิกถอนการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 และกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปของนางสาวธันยพร เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดโทษ ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยต่าง ๆ มาใช้ประกอบการพิจารณาของ ก.ล.ต. ด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน
ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้ลงทุนพิจารณาคัดเลือกลงทุนในตราสารหนี้ที่เหมาะสมตามประเภทของผู้ลงทุน โดยคำนึงถึงคุณสมบัติของตนให้สอดคล้องกับประเภทของตราสารหนี้ สำหรับผู้แนะนำการลงทุนที่ทำหน้าที่ติดต่อเสนอขายตราสารหนี้แก่ผู้ลงทุน ก.ล.ต. ขอเน้นย้ำให้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทุนและเรียกขอเอกสารแสดงคุณสมบัติของผู้ลงทุนให้ครบถ้วนทุกครั้ง เพื่อให้สามารถเสนอขายและแนะนำการลงทุนในหลักทรัพย์ได้อย่างเหมาะสมกับผู้ลงทุน